เรื่องการเมืองและแฟชั่นเชื่อมโยงกันทุกยุคสมัย หากนิยามของคำว่า ‘แฟชั่น’ ไม่ได้จำกัดเพียงแค่การนิยมไอเท็มที่กำลังเทรนด์ดี้ หรือรักที่จะแต่งตัวเก๋ไก๋ไปวันๆ แต่มองให้รอบและครอบคลุมอีกหลายมิติ ทั้งเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมที่สอดแทรกอยู่ในนั้น ยิ่งฟากการเมืองร้อนแรงมากขึ้นเท่าไร โลกแฟชั่นก็จะยิ่งซาบซ่ามากขึ้นไม่แพ้กัน เพราะมนุษย์รู้จักใช้ประโยชน์จากเครื่องแต่งกายให้คุ้มค่ากว่าเป็นแค่เครื่องนุ่งห่มคลายหนาวและปกป้องผิวพรรณจากการถูกแสงแดดทำร้ายอย่างบรรพบุรุษในอดีตกาล
วันนี้เสื้อผ้าที่เราสวมใส่มีสถานะเป็นมากกว่าปัจจัย 4 ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ เพราะพวกมันถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างง่าย ได้ประสิทธิภาพ สะท้อนตัวตน บ่งบอกถึงจุดยืน สื่อสารถึงการเป็นพรรคพวกคอเดียวกัน โดยเฉพาะกับฤดูกาลเลือกตั้งที่ไม่ว่าจะเป็นประเทศใดก็ตาม เราจะได้เห็นแฟชั่นเชิงสัญลักษณ์แสดงออกเรื่องจุดยืนทางการเมืองในหลากรูปแบบ ตั้งแต่การใช้สีเสื้อ เวิร์ดดิ้งล้อเลียน หรือสนับสนุนผู้สมัครคนใด ไปจนถึงการตกแต่งด้วยเครื่องประดับชิ้นสเตทเมนต์ที่เห็นปุ๊บรู้ปั๊บว่าประทับใจและพร้อม Say Yes! หรือ Say No! ให้กับใคร
จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างใดที่ในปี 2016 แบรนด์หรู Versace ได้นำ ‘เข็มกลัดซ่อนปลาย’ ชิ้นไอคอนิกกลับมาตกแต่งให้กลายเป็นชิ้นสเตทเมนต์ การใช้เข็มกลัดซ่อนปลายตกแต่งเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในช่วงเวลานั้นลุกลามเป็นวงกว้าง เมื่อกลุ่มผู้ประท้วง Donald Trump (โดนัลด์ ทรัมป์) ประกอบด้วยคนจากหลากสาขาอาชีพ นำเข็มกลัดซ่อนปลายมากลัดไว้ที่หน้าอกเพื่อสื่อถึงการเคียงค้างและความปลอดภัย มีวัตถุประสงค์ต้องการพูดถึงกลุ่มสิทธิสตรี กลุ่ม LGBTQ+ กลุ่มผู้อพยพ กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่กำลังวิตกกับท่าทีที่มีต่อนโยบายแต่ละด้านซึ่งสะท้อนแนวคิดการเหยียดผิวและเชื้อชาติของว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐฯ
หรืออย่างในปี 2020 ภาพของนักการเมืองคนดัง Alexandria Ocasio-Cortez (อเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ-คอร์เตซ หรือ AOC) เดินออกจากอาคารรัฐสภาสหรัฐ พร้อมกระเป๋าจากแบรนด์สุดฮิป Telfar ที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงบนโลกใบนี้ ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางและเปิดพื้นที่สำหรับคนที่อาจไม่ได้อยู่บนโลกกระแสหลัก ตามสโลแกน ‘Not for you, for everyone’ สำหรับเธอมันไม่ได้เป็นแค่กระเป๋า แต่คือ ‘อาวุธทรงพลัง’ ใช้เพื่อสื่อสารแนวคิดด้านการเมืองที่มี ซึ่งดูต่างกันลิบลับกับแจ็กเกตของ Zara พิมพ์ประโยค ‘I really don’t care’ ที่อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง Melania Trump (เมลาเนีย ทรัมป์) ใส่ไปเยี่ยมค่ายผู้อพยพในปี 2018 แล้วไหนจะ ‘The Squad’ กลุ่มสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เป็นผู้หญิงผิวสีรุ่นใหม่ 4 คนแห่งสภาคองเกรสที่อายุน้อยกว่า 50 ปี AOC, Ilhan Omar (อิลฮาน โอมาร์), Ayanna Pressley (อายานนา เพรสลีย์) และ Rashida Tlaib (ราชิด้า เทเลบ) พวกเธอมักทาลิปสติกสีเบอร์กันดีในวันเข้าประชุมสภา ใช้การแต่งหน้าและเครื่องแต่งกายสื่อสารว่า “พวกเราไม่ได้มาเล่นๆ นะ … จัดหนักแน่นอน!”
วกกลับมาในประเทศไทยที่บรรยากาศทางการเมืองกำลังร้อนระอุเพราะเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 27 เรื่องแฟชั่นและการแต่งกายก็ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือและส่งสารไม่ต่างจากการเลือกตั้งของประเทศอื่น อาทิ การเหน็บปากกา 3 ด้าม ที่กระเป๋าเสื้อของคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แห่งคณะก้าวหน้า ผู้ช่วยหาเสียงให้พรรคก้าวไกล ที่เรามักเห็นกันทุกครั้งบนเวทีดีเบตหรือไปร่วมรายการต่างๆ ซึ่งเขาทำลักษณะนี้ตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ลุคใหม่ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ทั้งการแต่งหน้าและทรงผมทำให้ลดวัยจากตัวเลข 61 ลงมาอีกมากโข หรือคุณแพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย กับการแต่งกายสไตล์มาดนักบริหารรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จ จับคู่ไอเท็มตามสมัยนิยมและเครื่องประดับจากซูเปอร์แบรนด์
แต่เป็นที่ฮือฮาและถูกแชร์ว่อนบนโลกโซเชียลในช่วง 2 เดือนนี้ต้องยกให้ความพยายามสลัดภาพลักษณ์และลุคชินตาของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐที่คว้าแจ็กเกตสุกะจัง (Sukajan) สไตล์ญี่ปุ่นของแบรนด์ไทย Issue ที่โชว์บนรันเวย์เมื่อปลายปีที่แล้วมาใส่กระชากวัย และใช้เพลง ‘ทรงอย่างแบด’ สุดฮิตของวัยรุ่นฟันน้ำนมมาเป็นเพลงประจำตัว เพื่อให้ลุคร่วมสมัยและถูกใจเยาวชนคนรุ่นใหม่มากที่สุด
ในฤดูกาลแห่งการเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นประเทศใด ผู้สมัครก็มักจะใช้ ‘ศาสตร์การแต่งกาย’ มาสร้างสีสันเป็นอาวุธเสริมกันอยู่เสมอ เพราะเป็นรูปแบบหนึ่งของ ‘อวัจนภาษา’ หรือการสื่อการที่นอกเหนือจากการใช้คำพูด มีประโยชน์ในการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ และการแสดงออกเชิงนโยบาย แต่ท้ายที่สุดแล้วเครื่องแต่งกายที่ฉาบอยู่บน ‘เปลือกนอก’ ก็อาจจะเป็นเพียงสิ่งที่สร้างความประทับใจชั่วขณะ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ‘ตัวตน’ ที่สะท้อนผ่านพฤติกรรม ‘นโยบาย’ และ ‘การลงมือปฏิบัติจริง’ ที่โดนใจนั้นต่างหากคือสาระสำคัญ ส่วนกลยุทธ์การสื่อสารผ่านเครื่องแต่งกายที่นำมาใช้จะได้ผลมากขนาดไหนนั้น … 14 พฤษภาคม 2566 วันเข้าคูหาไปกาคนที่คู่ควรเราคงได้คำตอบ