บำบัดกายและใจไปกับ ‘หมอเปียง-กันตพงศ์’ ผู้ส่งต่อความรู้ด้านสุขภาพผ่านโซเชียลมีเดีย

Words: Miss Cherdchai / Pryfha Wannamaethangkoon
Photo: Pathomporn Phueakphud

เมื่ออาการป่วยอาจไม่ได้รักษาได้เพียงการให้ยา ‘หมอเปียง-กันตพงศ์ ทองรงค์’ คุณหมอผู้รักการท่องเที่ยว จึงเลือกเดินทางต่อในสายเวชศาสตร์ฟื้นฟู เพื่อที่จะดูแลผู้คนทั้งในสถานพยาบาลและสามารถแบ่งปันความรู้สู่โลกออนไลน์ไปได้ในเวลาเดียวกัน

EM: แนะนำตัวกับ ELLE MEN?

P: ชื่อเปียงนะครับ กันตพงศ์ ทองรงค์ ปัจจุบันเป็นแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู หรือ Rehabilitation Medicine ครับ แล้วก็มี Facebook Fanpage ของตัวเองชื่อว่า ‘Pyong Traveller X Doctor’ เป็น Travel/Lifestyle Fanpage ครับ Instagram คือ @pycaptain ทำทั้งสองอย่างควบคู่กันมา โดยเพจเนี่ยทำมากว่า 6 ปีแล้วครับ ผมเป็นหมอท่องเที่ยวที่พาไปเก็บคอนเทนต์ เล่าเรื่องต่างๆ ซึ่งระหว่างที่ทำเพจก็มีไปศึกษาต่อเฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟูที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครับ และตอนนี้ผมก็ทำคลินิกของผมด้วย ชื่อว่า PYONG Rehabilitation Clinic ครับ

EM: วิธีการจัดการกับความเครียดในแบบฉบับหมอเปียง?

P: วิธีการจัดการกับความเครียดก็คือการกลับไปหาเซฟโซนของตัวเองครับ อย่างส่วนตัวเป็นคนที่ชอบงานศิลปะมาก ชอบวาดรูป ชอบถ่ายภาพ เพราะฉะนั้นเราก็จะกลับมาทำอะไรพวกนี้แหละ ในเวลาที่เรารู้สึกว่าชีวิตนี้มันเริ่มเครียด ไม่ไหวแล้ว เราก็จะกลับมาเซฟโซน ออกไปถ่ายภาพ ออกไปเที่ยวครับ 

EM: เวชศาสตร์ฟื้นฟูคืออะไร?

P: เวชศาสตร์ฟื้นฟูเป็นสาขาที่ใหญ่มากครับ แล้วประกอบด้วยสหสาขาวิชาชีพข้างในนั้นอีกที เวชศาสตร์ฟื้นฟูก็จะพูดถึงคุณภาพชีวิต เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นเท่าเดิมหรือดีขึ้นกว่าเดิม ป้องกันไม่ให้แย่ลง เพราะฉะนั้นผู้ป่วยในสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟูส่วนใหญ่เป็นคนที่อาจจะผ่านโรคต่างๆ มาแล้ว อย่างที่เรารู้กันว่าช่วงแรกจะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคก่อน พอเป็นโรคแล้วก็ต้องมีการวินิจฉัยรักษา หลังจากรักษาเสร็จแล้วล่ะคืออะไร ก็คือการฟื้นฟู เพราะฉะนั้นการฟื้นฟูจะเป็นเหมือนกับเสาหลักหลังจากที่หายจากอาการของโรคนั้นๆ ฟื้นฟูจะเป็นส่วนที่ทำให้เขาสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้ให้ปกติมากที่สุด ตามอัตภาพของคนนั้นๆ ครับ มันพูดถึงตั้งแต่เกิดจนแก่เลย แทรกซึมอยู่ในทุกๆ สาขาภาควิชา ไม่ว่าจะเป็นสาขาไหนก็ตาม การฟื้นฟูเนี่ยเป็นส่วนหนึ่งของโรคนั้นๆ เสมอ

ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่มีปัญหาสมองพิการ การดูแลรักษาทั่วไปก็ต้องทำในแผนกเด็กอยู่แล้ว แต่ว่าจะทำอย่างไรให้เขากลับไปโรงเรียนได้ ให้เขากลับมาพูดได้ ให้สื่อสารได้มากที่สุด ฟื้นฟูก็จะมีบทบาทในฝั่งนั้น หรือว่าถ้าพูดถึงคนที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง อย่างที่เรารู้ว่า Stroke เนี่ยคืออ่อนแรงครึ่งซีก เพราะฉะนั้นในส่วนแรกพอเป็นโรคปุ๊บก็ต้องมีคุณหมอทางอายุรกรรมและโรคประสาทที่เขามาช่วยดูแล วินิจฉัย ให้การรักษา หลังจากที่คนไข้อาจจะผ่าน Phase ที่เฉียดตายมา พอผ่านมาแล้วยังเหลือความทุพพลภาพอยู่ ยังมีอาการอ่อนแรงครึ่งซีกอยู่ ทำอย่างไรให้เขาสามารถที่จะกลับไปอยู่ในสังคมได้ ให้เขาเดินได้ ให้เขาสามารถใช้มือได้ อันนี้แหละคือส่วนของฟื้นฟูครับ

ซึ่งเวชศาสตร์ฟื้นฟูจะรวมถึงโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนทั่วไปด้วย เช่น อาการปวดทั่วไป เพราะอาการปวดมันเป็นสิ่งที่ทำให้ฟังก์ชั่นของคนลดลง คอนเซปต์ของฟื้นฟูก็คือการทำให้คุณภาพชีวิตกลับมาดีเท่าเดิมหรือดีขึ้น คือทำอย่างไรก็ได้ให้อาการปวดมันหายไป แต่ถ้าพูดถึงอะไรที่มันจับต้องง่าย เช่น Office Syndrome ทำอย่างไรให้คนหายจากออฟฟิศซินโดรม ก็เป็นการฟื้นฟู รวมไปตั้งแต่การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ การใช้อุปกรณ์ทางกายภาพบำบัด การออกกำลังกาย หรือการใช้อุปกรณ์เสริม มันก็จะมีตัวเลือกของมันมากมาย ไม่ได้จบแค่การใช้ยาอย่างเดียว หมอฟื้นฟูจะไม่ใช่หมอวินิจฉัยที่ให้ยาแล้วจบ แต่ว่ายาของเราเนี่ยมันมีอื่นๆ อีกมากมาย เราให้การออกกำลังกายเป็นยา เรามองว่าคำแนะนำเป็นยา

ผมแนะนำคนไข้เสมอว่าให้ทำเช้าเย็น ให้มองว่าการออกกำลังกายเป็นยาตัวหนึ่งที่หมอให้ มันก็จะมีท่าทางออกกำลังกายที่พิเศษ ที่ต้องทำสำหรับโรคนั้นๆ เพราะฉะนั้นคุณต้องทำทุกวัน แล้วเวลาออกกำลังกายเราก็ไม่ได้บอกแค่ว่า “ไปออกกำลังกายนะ” แต่จะบอกถึงความถี่ จำนวนครั้ง ช่วงเวลาที่ต้องทำ ความหนักของมัน แล้วแต่ว่าเพื่อรักษาอะไร มันก็จะมีความเจาะจงที่เป็นเสน่ห์ตัวหนึ่งของเวชศาสตร์ฟื้นฟูที่เราจะให้ความสำคัญกับการให้คำปรึกษา การให้การรักษาทางเลือกอื่น ๆ ที่ไม่ใช้ยา แต่ยาก็ยังใช้อยู่นะครับ ก็ต้องใช้ควบคู่กันไป 

EM: อะไรที่ทำให้สนใจในศาสตร์นี้?

P: ต้องเท้าความว่าเราเป็น Travel Blogger มาก่อนที่จะเรียนต่อเฉพาะทาง เพราะฉะนั้นมันเลยกลายเป็นตัวเลือกที่เราต้องหาให้มันเข้ากับสิ่งนี้ด้วย เราก็เลยพยายามหาว่าจะมีศาสตร์ไหนที่เราจะสามารถคุยกับผู้ติดตามเราได้แล้วมันไม่ดูเป็นวิชาการมากเกินไป มันก็เลยจบตรงที่ว่าเราเห็นเวชศาสตร์ฟื้นฟูเป็นสาขาที่เน้นย้ำและให้ความสำคัญกับไลฟ์สไตล์และคุณภาพชีวิต แล้วโรคหลายๆ โรคที่เกี่ยวข้องกับสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟูเนี่ยมันเป็นโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ กระดูก เส้นเอ็น ซึ่งจำนวนมากมาจากพฤติกรรมของเราเอง การรักษาก็คือการแนะนำการออกกำลังกายที่เป็นคีย์สำคัญในการรักษา ด้วยส่วนตัวผมออกกำลังกายอยู่แล้ว แล้วเราก็ทำคอนเทนต์ไลฟ์สไตล์กับท่องเที่ยวอยู่แล้ว เลยมองว่ามันคงจะดีถ้าเราเอาความรู้ตรงนี้มาแทรกลงไปในคอนเทนต์ของเราด้วย ก็เลยคิดว่ามันน่าจะเป็นสาขาที่ส่งเสริมกันและกัน เพราะผมคิดว่าเราจะไม่เลิกเป็น Travel Blogger นะครับตอนที่เรียนต่อ จนตอนนี้ก็เรียนจบเฉพาะทางแล้วก็ยังเป็นอยู่ครับ

EM: อาการอะไรที่พบเจอบ่อยที่สุดจากคนวัยทำงาน และสาเหตุเกิดจากอะไร?

P: ที่พูดมาทั้งหมดนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งนะครับ แต่คนที่มาหาบ่อยที่สุดเนี่ยจะเป็นโรคที่เกิดจากการทำงานเป็นหลัก พูดง่ายๆ ก็คือออฟฟิศซินโดรมเนี่ยแหละที่เรารู้จักกัน ชื่อทางการแพทย์มันคือ Myofascial Pain เป็นอาการปวดเรื้อรังที่เกิดจากกล้ามเนื้อและองค์ประกอบของกล้ามเนื้อต่างๆ ที่เกิดจากการทำงานผิดปกติไป ซึ่งอาการปวดมันก็มีอาการหลากหลาย บางทีก็ไม่ได้ปวดตรงจุดที่เป็นด้วย ร้าวไปจุดอื่นก็ได้ หรือบางทีทำให้พิสัยการเคลื่อนไหวข้อติด ทำให้การขยับผิดปกติไป ส่งผลต่ออารมณ์ ต่อการนอนได้ด้วย คือมันจะค่อนข้างมีอาการที่ไม่เจาะจง มันเชื่อมโยงกับระบบอื่นๆ ได้ครับ

EM: ถ้าเราไม่ได้รับการฟื้นฟูเลย อาการที่ร้ายแรงที่สุดจะไปถึงขั้นไหน? 

P: คำว่าร้ายแรงในทางฟื้นฟูคือเริ่มรบกวนไลฟ์สไตล์แล้ว เริ่มทำให้ฟังก์ชั่นในการใช้ชีวิตผิดปกติไป เช่น อาจจะทำงานได้ไม่ดีเท่าเดิม หรือว่าอาจจะรบกวนการนอน หรือว่าเริ่มส่งผลต่อสภาพอารมณ์ อันนี้คือเริ่มเป็นสัญญาณแล้วว่าถ้ามีอาการเหล่านี้คือมันรบกวนด้านอื่นๆ มันไม่ใช่แค่เมื่อยๆ ธรรมดา อันนี้ก็ควรจะไปหาหมอให้ช่วยกันดูว่าเป็นอะไร บางทีมันอาจจะไม่ได้เป็นแค่นี้ก็ได้ มันอาจจะเป็นกระดูกก็ได้ อาจเป็นกระดูกคอเสื่อมแล้วส่งผลให้การทำงานของกล้ามเนื้อที่อยู่รอบๆ คอผิดปกติไปก็ได้เหมือนกัน ไม่ได้หมายความว่าเป็นออฟฟิศซินโดรมแล้วต้องเกี่ยวกับกล้ามเนื้อเท่านั้น แต่มันอาจจะเป็นปัญหาที่มาจากอย่างอื่น มันเป็นโรคที่สืบเนื่องมาจากโรคอื่นที่ทำให้เกิดออฟฟิศซินโดรมอีกทีหนึ่งก็ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันก็เลยสำคัญตรงที่ว่าการปวดตัวมันมีมากกว่านั้น เลยอาจจะต้องให้หมอช่วยดูครับ

EM: ในอนาคตมองว่าเวชศาสตร์ฟื้นฟูมันจะไปได้ไกลแค่ไหน จะมีเทคโนโลยีอะไรมาเกี่ยวข้อง?

P: อย่างที่บอกนะครับว่าเวชศาสตร์ฟื้นฟูมันเป็นสาขาที่ใหญ่มากๆ รวมสหสาขาวิชาชีพ มีโรคที่เกี่ยวข้องเยอะมาก เพราะฉะนั้นความเป็นไปได้ในการที่มันจะเติบโตต่อไปเนี่ย มันมีความเป็นได้สูงมากครับในแง่ของการใช้หุ่นยนต์ การใช้ AI เข้ามา หรือว่าในเรื่องของการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design) ซึ่งความตระหนักรู้ในเรื่องนี้มันค่อยๆ สูงขึ้นเรื่อยๆ คนสนใจเรื่องไลฟ์สไตล์มากขึ้น คนสนใจเรื่อง Quality of Life และเรื่อง Wellness มากขึ้น คนเริ่มหันมาเห็นความสำคัญว่าจะมี Work-Life Balance ที่ดีได้อย่างไร ก็เลยมองว่าเวชศาสตร์ฟื้นฟูจะค่อยๆ โตขึ้นไปเรื่อยๆ จากความสนใจของคนที่เริ่มใส่ใจตัวเองกันมากขึ้น เพราะฉะนั้นหุ่นยนต์จะเข้ามามีส่วนอย่างแน่นอน คนที่เคยเดินไม่ได้จะสามารถเดินได้ในอนาคตด้วยหุ่นยนต์ คนที่เสียอวัยวะไปอาจจะมีอุปกรณ์เทียมที่สามารถทำได้ทุกอย่างตามที่ใจต้องการ คือมันเป็นศาสตร์ของอนาคตซึ่งในปัจจุบันก็เริ่มมีอะไรพวกนี้มาแล้ว แต่อาจจะยังต้องได้รับการพัฒนาไปอีก ทิศทางของมันก็คือมาแน่ แต่ราคาอาจจะสูง เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นคืออยากให้คนเข้ามามีบทบาทตรงนี้เยอะๆ ร่วมกันช่วยพัฒนา เพื่อให้คนสามารถเข้าถึงการรักษาตรงนี้ได้มากขึ้นครับ

Similar Articles

More