‘Dry Wave Cocktail Studio’ บาร์ที่เกิดจากการทำตามความฝันของนายบาร์ที่ทุกคนรู้จักดี

“ค็อกเทลก็ไม่ต่างอะไรจากคลื่นซึ่งซัดเข้าฝั่ง คือมันผ่านการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของเครื่องดื่มนี้เมื่อปี 1806 สู่สูตรทวิสต์ซึ่งประดิษฐ์มาอย่างสร้างสรรค์ของค็อกเทลสมัยนี้…” คือคำประกาศที่ปรากฏในหน้าแรกของเมนูเครื่องดื่มของ Dry Wave Cocktail Studio

ผู้อยู่เบื้องหลัง Dry Wave คือ ปาล์ม-ศุภวิชญ์ มุททารัตน์ บาร์เทนเดอร์ผู้อยู่ในวงการมาเกือบ 20 ปี เขาโด่งดังหลังจากเป็นผู้ชนะ Campari Bartender Competition Asia ซึ่งแข่งกันที่เมืองมิลาน บ้านของแบรนด์คัมพารีที่ประเทศอิตาลี นักดื่มจะจำเขาได้จาก Vesper ตั้งแต่สมัยที่เป็นบาร์/ร้านอาหารอิตาเลียน มาจนสมัยที่เป็นค็อกเทลบาร์เต็มตัว จากนั้นเราก็ไม่ได้เห็นเขายืนหลังบาร์อีก ตั้งแต่ปาล์มไปทำงานด้านบริหารให้กรุ๊ปด้านบริการอาหารและเครื่องดื่มอย่าง Watermelon Group ซึ่งสร้างสรรค์และดำเนินงานบาร์และร้านอาหารอย่าง Canvas, Rabbit Hole, Bar Marco, Crimson Room และ Fuchsia เราจะเห็นปาล์มเดินใส่สูทซึ่งตัดเย็บอย่างดี เนกไทสวย อยู่ในร้านและบาร์เพื่อดูแลให้ทุกอย่างเป็นไปโดยเรียบร้อย จากนั้นเขาก็ออกจากงานที่บริษัทใหญ่มาเปิดบาร์ของตัวเอง

จากที่จอดรถของ Sodality Thong Lo ในซอยทองหล่อ 13 เดินไปด้านหลัง ขึ้นบันไดเวียนสู่ชั้นสองซึ่งเป็นที่ตั้งของบาร์ เปิดประตูเข้าไปก็เจอปาล์มทำงานง่วนอยู่หลังเคาน์เตอร์ ดีลกับออร์เดอร์เครื่องดื่มของลูกค้าซึ่งค่อนข้างเนืองแน่นในคืนวันเปิดตัว  แม้ไม่มีโอกาสทำงานหลังบาร์มาเป็นปี แต่ปาล์มยังชงเครื่องดื่มได้คล่องแคล่วและน่ามอง (เขาเป็นคนหนึ่งที่สะบัดเชกเกอร์หลังเทแล้วได้สวยน่าดูมาก) อย่างที่เราชอบพูดกันว่าความคล่องแคล่วน่าดูของคนทำงานบาร์มาจาก Muscle Memory คือความทรงจำซึ่งฝังอยู่ในกล้ามเนื้อ จากการพากเพียรอดทนฝึกหัด ตอกย้ำให้กล้ามเนื้อจดจำ เกิดเป็นลีลาประจำตัว

“คนทำงานบาร์ทุกคนมีความฝันนะครับ อยากเปิดร้านที่บอกความเป็นเรา” คือคำตอบเมื่อเราถามถึงเหตุที่เปิด Dry Wave น่าสังเกตว่ากว่าปาล์มจะไล่ตามความฝันของตัวเองก็หลังจากที่ทำงานในวงการบาร์มาเกือบยี่สิบปีแล้ว ไม่ผลีผลามตามความฝันโดยไม่รู้เหนือรู้ใต้ “ก็มีเรื่องอายุด้วย ปีนี้ผมอายุ 39 แล้ว ถึงเวลาที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจครับ” 

แล้วอะไรล่ะที่จะบอกความเป็นปาล์ม “ความเป็นตัวผมน่ะหรือ ผมเป็นคนสบายๆ ชอบค็อกเทล ชอบงานศิลปะ เป็นคนมีไอเดียตลอดเวลา จึงอยากทำบาร์ที่เป็นโซนของเรา ให้ทุกคนมานั่งดื่ม จะสุข เศร้า อกหัก ได้หมด เป็นที่ที่สบายใจ ใคร ๆ ก็มาได้”

บาร์ Dry Wave มีขนาดค่อนข้างเล็กชนิดที่ฝรั่งเรียกติดปากว่า cozy มีผนังชั้นนอกเป็นรูปคลื่นอยู่รอบผนัง เห็นต้นไม้กิ่งไม้ที่โน่นที่นี่ คือมีองค์ประกอบของธรรมชาติ สร้างความสบายตา มีการตกแต่งร้านด้วยงานศิลปะพอได้บรรยากาศ 

เราทราบมาว่าคอนเซปต์เครื่องดื่มของที่นี่น่าสนใจทีเดียว คือมีวิธีจับคลาสสิกค็อกเทลที่สนุกดี เขาอธิบายว่า “คลาสสิกค็อกเทล (หรือค็อกเทลแม่ไม้ มีจำนวนหลายร้อยสูตร ล้วนผ่านการพิสูจน์ของกาลเวลามาแล้วว่าผ่านมานานแค่ไหนก็อร่อย) จะทำกันตามตำราเป๊ะ ๆ ก็ได้ หรือจะให้ครีเอทีฟก็ได้เหมือนกัน ที่นี่เราใช้แกนหลัก ๆ ของคลาสสิกค็อกเทล แล้วต่อยอด แต่เราไม่อยากทำแค่ทวิสต์สูตร  อยากให้มันแปลกใหม่”

เมนูเครื่องดื่มของ Dry Wave แปลกใหม่จริง โดยจะยืนพื้นด้วยคลาสสิกค็อกเทลสองตัว อย่างเช่นหน้าหนึ่งจะมี Old Fashioned และ Cosmopolitan ทั้งสองจะผ่านการสร้างสรรค์จนได้เป็นค็อกเทลตัวที่สาม ซึ่งมาจากองค์ประกอบของคลาสสิกค็อกเทลสองตัวแรก จึงออกมาเป็นค็อกเทลชื่อ 1806 – 1988 ตัวเลขแรกคือปีที่ปรากฏหลักฐานว่าค็อกเทลถือกำเนิดขึ้นมาในโลก ซึ่งก็คือ Old Fashioned นั่นแหละครับ ตัวเลขที่สองอ้างถึง Cosmopolitan เครื่องดื่มยอดนิยมจากยุค ’80s ปาล์มบอกว่า “เครื่องดื่มที่ Dry Wave เลยได้มาเป็นแบบนี้ เป็น 1+1 = 1  เหมือนคลื่นสองลูกมาเจอกัน แล้วกลายเป็นคลื่นลูกที่สาม เกิดเป็นรสชาติใหม่ มันสนุกดีนะ ไม่หยุดนิ่ง และมีความยืดหยุ่น”

คุณ ๆ ที่รักคลาสสิกค็อกเทลสามารถเลือกสั่งได้ตามที่มีในเมนู ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่าตัวไหนเบา ตัวไหนหนัก ตัวไหนหอมกรุ่น ตัวไหนรุนแรงสาแก่ใจ และถ้าอยากจะเพิ่มรสชาติความแปลกใหม่ให้ชีวิต ก็สามารถเลือกสั่งเครื่องดื่มตัวที่สามในหน้า ซึ่งเป็นสิ่งที่เรียกว่า Super Classic ผลลัพธ์ของการนำคลาสสิกค็อกเทลสองตัวมาเป็นแรงบันดาลใจ  

อย่าง 1806 – 1988 นี่จิบแรกเราได้ความหนักแน่นหอมละมุนอย่าง Old Fashioned สักพักความสดชื่นลึก ๆ ซึ่งเป็นรสลายเซ็นของ Cosmopolitan ก็ตามมา เป็นอย่างนี้ไปจนหมดแก้ว เครื่องดื่ม Super Classic ที่นี่เรียกได้ว่ารู้จักคลาสสิกค็อกเทลซึ่งเป็นคู่ต้นแบบก็อร่อย แม้ไม่รู้จักอะไรเลยก็ยังอร่อย

เมนูหน้าอื่นก็น่าสนใจ และดูเหมือนจะออกแบบไว้ครอบคลุมหลากหลายรสชาติของการดื่ม ตั้งแต่การพบกันของสองเครื่องดื่มสายสดชื่น Bellini + Paloma ออกมาเป็น Love Birds in Venice ซึ่งผลลัพธ์แน่นกว่าสองเครื่องดื่มต้นตำรับ แต่คงความสดชื่นของแก้วแรกของค่ำคืนไว้ครบ ยังมี Dirty Martini + Clover Club = Dirty Red Hot ซึ่งรวมเอารสชาติจริงจังอย่าง savoury (ของ Dirty Martini) ไว้กับความหวานสดชื่นด้วยผลไม้ (ของ Clover Club) ได้อย่างสนุกสนาน

Dry Wave Cocktail Studio เป็นบาร์ใหม่ที่น่าจะถูกใจนักดื่มที่สนใจคลาสสิกค็อกเทล และไม่หยุดที่จะมองหาอะไรที่แปลกใหม่ไปกว่านั้น

Words: Suriya Na RCA
Photo: Courtesy of the Brand

Similar Articles

More