Dior Fall/Winter 2024 การผสมผสานระหว่างสไตล์ของนักเต้นกับผลงานอันทรงคุณค่าของเมซง

หนึ่งวันก่อนจะมีโชว์คอลเล็กชั่น Men’s Fall/Winter 2024 บนโซเชียลมีเดียของ Dior ได้โพสต์คลิปสัมภาษณ์นักเต้นระบำปลายเท้าหนุ่มๆ ด้วยกัน 3 ราย ทั้ง Hugo Marchand (ฮิวโก้ มาร์ชอง), Marc Moreau (มาร์ค โมโร) และ Germain Louvet (เจอร์เมน ลูเวต์) พูดถึงความประทับใจที่มีต่อ Rudolf Nureyev (รูดอล์ฟ นูเรเยฟ) นักเต้นบัลเลต์ชายที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของโลกในศตวรรษที่ 20 โดยขณะที่ร่วมงานกับคณะรอยัลบัลเลต์ของอังกฤษ (ระหว่าง ค.ศ. 1962 ถึง 1970) เขามีชื่อเสียงในฐานะนักเต้นชายเบอร์หนึ่งของโลก และยังเป็นผู้กรุยทางให้เหล่านักเต้นบัลเลต์ชายมีบทบาทเด่นขึ้น จากเดิมที่เป็นเพียงนักเต้นเบอร์รอง มีหน้าที่สนับสนุนบัลเลริน่าสาวๆ เพียงเท่านั้น ทำให้คาดการณ์ได้ทันทีว่าคอลเล็กชั่นชายล่าสุดได้แรงบันดาลใจมาจากศาสตร์ของการเต้นและคาแรคเตอร์ของ Rudolf มิวส์ประจำฤดูกาล เพราะหนึ่งในบทบันทึกประวัติศาสตร์ของเฮาส์หลังนี้มีเรื่องของบัลเลต์เป็นอีกสิ่งที่ผู้ก่อตั้ง Monsieur Dior (เมอร์ซิเออร์ ดิออร์) โปรดปรานเป็นอย่างยิ่ง

“ผมนึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างสุดยอดบัลเลริน่า Margot Fonteyn (มาร์โกต์ ฟอนตีน) และ Monsieur Dior ซึ่งนั่นยังนำไปสู่การนึกถึงนักเต้นคู่บุญของเธอ Rudolf Nureyev อีกทั้งตัวเขายังเกี่ยวพันกับเรื่องราวในชีวิตของผมผม เพราะ Colin Jones (โคลิน โจนส์) ลุงของผมที่เป็นช่างภาพเคยเป็นนักเต้นบัลเลต์มาก่อน และมีมิตรภาพอันแน่นแฟ้นกับเหล่าสตาร์ของโลกบัลเลต์ ชีวิตของ Rudolf บนเวทีการแสดงและความเป็นจริงที่แตกต่างกันนั้น เป็นแรงบันดาลใจให้ผมสร้างสรรค์คอลเล็กชั่นที่เป็นการผสมผสานระหว่างสไตล์ของนักเต้นกับผลงานอันทรงคุณค่าของเมซงดิออร์” – Kim Jones (คิม โจนส์) ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์แผนกเสื้อผ้าบุรุษของเฮาส์เล่าถึงแรงบันดาลใจและมิวส์คนสำคัญ ต้นกำเนิดของภาพร่างแห่งจินตนาการสำหรับคอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว ประจำปี 2024 กับโชว์ที่เปลี่ยนรันเวย์ธรรมดาให้เป็นเวทีสำหรับการแสดงราวกับละครโรงใหญ่ และยังเป็นฤดูกาลแรกที่ Kim Jones นำเสนอคอลเล็กชั่นเสื้อสำเร็จรูปคู่ชิ้นงานในระดับชุดกูตูร์สำหรับคุณผู้ชาย

รูปแบบเครื่องแต่งกายของเหล่านักเต้นระบำปลายเท้าที่ทั้งเข้ารูป เน้นส่วนสัด และเผยผิวถูกยกระดับด้วยเทคนิคงานปักจากเมซงเลื่องชื่อเช่นเดียวกับโอตกูตูร์ของสตรี อาทิ เสื้อแขนกุดปักมุกลวดลายดอกไม้ใส่คู่กับบัลเลต์ไทต์และรองเท้าคู่ใหม่สไตล์รองเท้าบัลเลต์ซอฟต์ลายคานนาจ (Cannage) เสื้อถักซิปหน้าดูคล้ายชุดเลียวตาร์ด (Leotard) ใส่คู่กับกางเกงขาสั้นที่บานจนนึกถึงการสวมกระโปรงทูทู (TuTu) แจ็กเก็ตตกแต่งเส้นเลื่อมทั้งตัวอิงดีไซน์คอสตูมที่ Rudolf เคยสวม โดยไม่พลาดชิ้นสำคัญที่สามารถสวมทับเพื่อปรับลุคลำลองให้ดูทางการอย่างแจ็กเก็ตคัตคมที่ได้แรงบันดาลใจมาจากบาร์แจ็กเก็ตชิ้นเลื่องชื่อของเฮาส์ และยังเป็นการย้ำถึงศักยภาพของเหล่าทีมช่างว่าสามารถตัดเย็บงานเทเลอร์ได้น่าชื่นชมไม่เป็นสองรองใคร

รสนิยมส่วนตัวของ Rudolf ที่รักการสะสมของเก่าโดยเฉพาะกับแพรพรรณยังสะท้อนผ่านหลากลุคเสื้อคลุมกิโมโนที่ใช้เทคนิคการทอและปักมือแบบโบราณโดยช่างฝีมือระดับปรมาจารย์ของญี่ปุ่น เสื้อคลุมกิโมโนอุจิคาเกะสีเงินตัวเด่นนั้นใช้เทคนิคการทอผ้าฮิกิฮากุ (Hikihaku) ล้ำสมัย โดยอิงรูปแบบสมบัติส่วนตัวของ Rudolf ซึ่งเสื้อคลุมตัวนี้ต้องใช้ช่าง 10 คน กับเวลาอีกสามเดือนสำหรับการรังสรรค์ นอกจากนั้นยังอ้างอิงงานปักในคลังสมบัติของเฮาส์ที่สะท้อนความหรูหราของโลกแห่งอาภรณ์ชั้นสูงอย่างเต็มขั้น อย่างงานปักของชุดราตรีตัวเด่นในทศวรรษ 1950 เดบุสซี่ (Debussy) ที่ Monsieur Dior สร้างสรรค์สำหรับนักเต้นบัลเลต์คนโปรด Margot Fonteyn มาในรูปแบบของเสื้อแขนกุดและโค้ทสำหรับผู้ชาย ฟินิชชิ่งลุคด้วยการคาดผมและหมวกกำมะหยี่โดย Stephen Jones (สตีเฟน โจนส์)

และเพื่อให้สอดคล้องกับผลงานเทียบชั้นกูตูร์ของฝั่งสตรี ความรุ่มรวยรสนิยมและความฟุ้งเฟ้อของโลกแฟชั่นชั้นสูงยังถูกสื่อสารผ่านโชว์ยิ่งใหญ่ตระการตา ในช่วงฟินาเล่นั้นใช้ระบบไฮดรอลิกหมุนและยกเวทีเพื่อให้ผู้ชมทุกมุมได้เห็นผลงานเลอค่าที่ถ่ายทอดจิตวิตวิญญาณแห่งการสร้างสรรค์ของกูตูร์เฮาส์ซึ่งถือเป็นอีกความภาคภูมิใจของนครแห่งแสงไฟ กรุงปารีสสถานที่พักพิงช่วงสุดท้ายในชีวิตของ Rudolf Nureyev และยังเป็นที่ตั้งของสุสานฝังร่างไร้วิญญาณของนักเต้นผู้เป็นแรงบันดาลใจให้แก่โลกแห่งศิลปะการแสดง และคนสร้างสรรค์อย่าง Kim Jones – “นี่คือคอลเล็กชั่นที่เป็นการพบกันของมรดกจากสองคนที่ผมประทับใจ (เขาหมายถึง Monsieur Dior และ Rudolf Nureyev) แม้อยู่กันคนละแขนง แต่ทั้งคู่มีความเป็นเลิศเช่นเดียวกัน”

Similar Articles

More