ล้อเลียนอย่างสร้างสรรค์ ขบขัน และเสียดสี นี่คือศาสตร์แห่งการ Parody บนโลกทุนนิยม

โชว์ล่าสุดของ Diesel เหมือนพาผมย้อนวัยไปสักราวๆ เกือบ 2 ทศวรรษที่แล้ว เป็นช่วงเวลาที่เว็บไซต์แฟชั่นของไทย (อาทิ ThaiCatwalk, SneakerSociety, Siambrandname) ได้รับความนิยมถึงขีดสุด คนเสพแฟชั่นชาวไทยนิยมติดตามข่าวสาร ความเคลื่อนไหว และเรื่องเกร็ดความรู้ในโลกแฟชั่นและสินค้าลักซ์ชัวรี่จากเว็บบอร์ดของเว็บไซต์เหล่านั้น อีกทั้งยังเป็นช่วงที่ ‘Parody’ กำลังคืบคลานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระแสแฟชั่น ทำให้เกิดคำถามมากมายว่านี่คือการสร้างผลงานจากแรงบันดาลใจ เป็นการล้อเลียนเสียดสี หรือละเมิดลิขสิทธิ์!?!

Doublet และ Nissin Cap Noodles

อย่างชิ้นงานบนหลายลุคเด่นจากคอลเล็กชั่น Spring/Summer 2024 ของ Diesel ที่ดูแล้ว ‘ทำให้นึกถึง’ ใบปิดของภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ซึ่งกวาดรายได้ถล่มทลาย … มันเข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ไหม? ผมตอบได้เลยครับว่าไม่ นี่ไม่ใช่การละเมิดลิขสิทธิ์เพราะเอาเข้าจริงๆ อย่างเสื้อยืดโอเวอร์ไซซ์พิมพ์ลายที่ดูแล้วทำให้นึกถึงใบปิดภาพยนตร์ The Dark Knight (2008) นั้นแทบจะไม่มีอะไรเหมือนกันเพียงแต่ ‘ทำให้นึกถึง’ แต่หากถามว่า … เป็นเรื่องของแรงบันดาลใจหรือไม่? ผมตอบได้เลยว่าใช่ จากการให้สัมภาษณ์ของ Glenn Martens (เกลนน์ มาร์ตินส์) ผู้เป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์ … และหากถามต่ออีกว่า ทำเพื่อการล้อเลียนใช่ไหม? ผมก็ตอบอีกว่าใช่ เพราะ Glenn Martens ต้องการล้อกับคติพจน์ประจำแบรนด์ ‘Only The Brave’ (โอนลี เดอะ เบรฟ)

Parody คือการสร้างสรรค์งานล้อเลียน ที่ผู้สร้างทำขึ้นเพื่อหลายเจตนารมณ์ด้วยกันไม่ว่าจะเป็นเสียดสี ทำให้ขำขัน หรือแม้แต่การวิพากษ์วิจารณ์งานต้นฉบับ โดยมีรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณคือ ‘Para’ เทียบในภาษาอังกฤษคือ Against หรือ Counter ที่แปลว่าการต่อต้าน โต้แย้ง หรือฝั่งตรงข้าม และ ‘Oide’ ที่แปลว่าบทเพลง เพราะย้อนกลับไปในยุคกรีกโบราณนั้น การสร้างสรรค์งานพาโรดี้ปรากฏในรูปแบบของกลอนหรือบทเพลง ทำขึ้นด้วยเจตนารมณ์ในการต่อต้านเรื่องเล่าที่คืบคลานเข้ามาครอบงำในมิติอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทวยเทพหรือเหล่าวีรบุรุษก็ตาม บทกลอนหรือบทเพลงแนวพาโรดี้จึงถูกนิยามว่าเป็นงานศิลปะเพื่อการเปิดโลกทัศน์ ทำให้ผู้เสพฉุกคิด และตั้งคำถามถึงเรื่องเล่ากระแสหลักที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม

The Dark Knight และ Diesel

คุณผู้อ่านจะสังเกตได้ว่า ผมเน้นย้ำวลี ‘ทำให้นึกถึง’ ช่วงต้นบทความ เพราะประการแรกนั้น หากผู้สร้างสรรค์ผลงานแนวพาโรดี้ไม่สามารถทำให้ผู้เสพเข้าใจได้ว่ากำลังพาดพิงถึงงานต้นฉบับชิ้นใดนั่นเท่ากับว่า ‘จบเห่’ ดังนั้นความสามารถเฉพาะตัวของผู้สร้างผลงานแนวนี้ไม่ว่าจะเป็นบทเพลง วรรณกรรม จิตรกรรม หรือแม้แต่เรื่องแฟชั่น จำเป็นต้องศึกษาองค์ประกอบที่ช่วยสร้างภาพจำให้ผลงานต้นฉบับ และเมื่อจับได้อยู่หมัดแล้วจึงค่อยๆ บิดทีละเล็กละน้อยตามแต่จินตนาการที่จะล้อเลียน แต่ต้องไม่ให้ดูผิดเพี้ยนจากองค์ประกอบที่กล่าวถึง ดังตัวอย่างเสื้อยืดพิมพ์ลายของ Diesel ที่มีโลโก้กำลังเผาไหมบนตึกระฟ้า กับบรรยากาศมืดหม่น โดยจุดเชื่อมโยงของทั้งงานต้นฉบับและงานพาโรดี้คือ ‘โลโก้’ ของตัวเองที่กำลังถูกเผาไหม้

สารานุกรม Encyclopédie ของ Denis Diderot (เดนีส ดีเดโรต์) นักปรัชญาและนักวิจารณ์ศิลปะชาวฝรั่งเศสคนดังได้ให้นิยามของงานพาโรดี้ไว้ว่า “การล้อเลียนที่ดีคือความขบขันที่ทำขึ้นเพื่อบุคคลที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดและไร้มลทินรู้สึกสนุกสนานได้” นั่นหมายความว่าการสร้างสรรค์งานพาโรดี้จะมีผลต่อความรู้สึกของผู้ที่มี ‘ศีลเสมอกัน’ อย่างกรณีเสื้อยืดพิมพ์ลายของ Diesel ที่กล่าวถึง หากคุณไม่ใช่คอภาพยนตร์หรือไม่เคยเห็นใบปิดเรื่อง The Dark Knight มาก่อน เสื้อตัวนี้จะกลายเป็นเพียงเสื้อยืดพิมพ์ลายเท่ๆ ดูดุดันทั่วๆ ไป แต่หากคุณมีประสบการณ์ร่วมกัน เสื้อยืดตัวนี้ก็จะทำให้คุณรู้สึกขบขันในการล้อเลียนของ Glenn Martens

Louis Vuitton x Takashi Murakami และ I Wanna Bangkok

แต่ถึงคุณไม่มีศีลเสมอเท่ากับตัวศิลปิน การล้อเลียนก็ยังเป็นการสร้างงานศิลปะขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่คุณเองก็ทำขึ้นได้ โดยเฉพาะกับในโลกของทุนนิยมที่มีความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน การทำพาโรดี้จึงปรากฏให้เห็นไปทั่วทุกสารทิศอย่างที่เราตื่นมาทุกเช้าก็เห็นภาพวาดล้อเลียนประเด็นดังในสังคมบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย และผู้คนพากันกดอีโมจิขำขันเพราะ ‘โดนใจ’ และเห็นพ้องต้องกันว่าพวกเขาเห็นด้วยหรือไม่ รวมทั้งคอมเมนต์ที่แสดงให้เห็นว่าการนิ่งเงียบในสภาวะที่สังคมไม่ปกตินั้นอาจไม่ใช่วิถีทางที่ควรจะเป็น แต่การร่วมกันแสดงความคิดเห็น อย่างมีวุฒิภาวะ ไร้ซึ่งอคติ หรือสื่อสารผ่านงานพาโรดี้ต่างหากที่ดูมีคุณค่าและคู่ควรแก่การรับฟัง

ยิ่งสังคมเหลื่อมล้ำ มากบรรทัดฐาน และผู้คนถูกกดขี่มากเท่าไร เราก็จะได้เห็นการสร้างสรรค์งานศิลปะแขนงต่างๆ แนวพาโรดี้มากขึ้นเท่านั้น “การล้อเลียนเป็นศิลปะที่สร้างบนพื้นที่การสื่อสาร ซึ่งผู้ที่ถูกกดขี่หรือกลุ่มคนชายขอบมักเลือกที่จะล้อเลียนบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่ครอบงำหรือกดขี่พวกเขาอยู่” – Mary Louise Pratt ศาสตราจารย์ด้านภาษาและวรรณคดีสเปนและโปรตุเกสแห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์กได้นิยามถึงการพาโรดี้ไว้น่าสนใจ และเป็นแก่นแท้ที่ทำให้ศาสตร์การล้อเลียนยังคงมีคู่กับโลกทุนนิยมที่กำลังหมุนไปเรื่อยๆ ใบนี้ เพราะตราบใดที่เราๆ ท่านๆ ยังมีปากให้พูด มือให้วาด และสมองให้คิด จิตวิญญาณแห่งศิลปินผู้นิยมตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ก็จะจุดประกายให้เราอดไม่ได้ที่จะสิงร่างศิลปินผู้สร้างสรรค์งานพาโรดี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง … เพราะมนุษย์เราเกิดมาพร้อมที่จะท้าทายกับความไม่เป็นธรรมเสมอมา … และยังจะคงทำตลอดไป

Chanel และ Moschino

Similar Articles

More