ข่าวการโบกมือลาห้องเสื้อ CHANEL หลังร่วมงานมานานกว่า 3 ทศวรรษของ Virginie Viard (เวอร์ฌินี วิยาร์ด) อาจทำให้หลายคนเซอร์ไพรส์ แต่โดยส่วนตัวทั้งผมและเชื่อว่ามีอีกหลายคนที่คิดว่า ‘เป็นไปตามคาด’ เพราะคิดไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าเธอน่าจะอยู่ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ได้เพียงระยะเวลาสัญญาหนึ่งฉบับ หลังเข้ามารับไม้ต่อจากสุดยอดกูตูริเยร์ผู้ล่วงลับ Karl Lagerfeld (คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์) ในปี 2019 ซึ่งสถานการณ์นี้ทำให้นึกย้อนกลับไปกรณีเทียบเคียงกับตอนที่เมซง Dior ดัน ‘คนใน’ ในฐานะมือขวา อย่าง Bill Gaytten (บิล เกย์ทเทน) ขึ้นมาแทนที่ John Galliano (จอห์น กัลลิอาโน) แบบกะทันหัน ซึ่งบิลก็อยู่ได้เพียงในช่วงที่เปรียบเป็นช่วงสุญญากาศของแบรนด์
กรณีนี้สำหรับผมและสื่อชั้นนำส่วนใหญ่เปรียบเป็นการ ‘ยื้อเวลา’ ทางแบรนด์ต้องการคงรูปแบบผลงานแนวทางเดียวกับผู้นำทัพคนก่อนหน้า เพื่อไม่ให้ลูกค้ารู้สึกช็อคเพราะตั้งตัวไม่ทันกับการปรับเปลี่ยนกะทันหัน แต่! ในท้ายที่สุดเมื่อเวลามาถึงก็ย่อมต้องเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมดา เพราะการที่แบรนด์ใหญ่ระดับ CHANEL ทำการยื้อเวลาที่ว่า ย่อมมีเป้าหมายสำคัญกว่าเพียงการเปลี่ยนตัวดีไซเนอร์ โดยเป้าหมายนั้นคือ ‘พลิกโฉม’ หมายรวมถึงทิศทางงานออกแบบ (อย่างกรณีของ Dior คือการนำ Raf Simons (ราฟ ซิมง) มาเปลี่ยนจากสไตล์แม็กซิมัลมาเป็นมินิมัล) และอาจจะเพิ่มไลน์สินค้าใหม่เข้ามา (เทียบกับในกรณีของ Hedi Slimane (เฮดิ สลิมาน) เปิดไลน์เสื้อผู้ชายที่ Celine)
ดังนั้นหลายคนจึงพากันคาดการณ์ว่าการเปลี่ยนผู้นำทัพในครั้งนี้จะทำให้เราได้เห็นทิศทางใหม่ของแบรนด์โลโก้ C ไขว้โดยฝากความหวังไว้กับนักออกแบบคนใหม่ที่จะเข้ามาคุมบังเหียน จึงทำให้ช่วงไม่กี่วันนี้เต็มไปด้วย ‘ข่าวลือ’ รายชื่อว่าที่ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์คนใหม่ เราจึงขอเลือก 5 รายชื่อนักออกแบบดังที่โผล่เข้ามาในโผของแต่ละสำนัก พร้อมเล่าข้อมูลโดยสังเขปว่าทำไมพวกเขาเหล่านี้จึงคู่ควรจะมารับตำแหน่งอันทรงเกียรติของหนึ่งในกูตูร์เฮาส์ที่ถือเป็นความภาคภูมิใจของฝรั่งเศส
Hedi Slimane
รายชื่อแรกๆ ที่หลายคนนึกถึงคงหนีไม่พ้น Hedi Slimane ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์และผู้อำนวยการด้านภาพลักษณ์ของ Celine โดยก่อนหน้านี้ไม่นานมีข่าวลือหนาหูว่าเขาเตรียมจะแยกทางกับ Celine แล้วในเวลาต่อมาได้มีการยืนยันว่าเขาจะยังคงอยู่กับ Celine ต่อไป แต่ในช่วงของการเล่นเก้าอี้ดนตรี อะไรก็ย่อมเกิดขึ้นได้ ดังนั้นชื่อของ Hedi จึงยังคงเป็นเบอร์ต้นๆ ที่หลายคนคาดเดาว่าเขาน่าจะมารับไม้ต่อจาก Virginie Viard
ชื่อของ Hedi Slimane ปรากฏเป็นข่าวลือว่าเขาคือผู้ที่จะมารับไม้ต่อจาก Karl Lagerfeld อยู่เนืองๆ ตลอดช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา โดยที่มาของข่าวลือนี้อ้างอิงจากความสนิทสนมระหว่างสุดยอดกูตูริเยร์และนักออกแบบที่ขึ้นชื่อในการสร้างลุคสำหรับหนุ่มสกินนีแนว Ano-Rock-Xia (คำล้อระหว่างโรคคลั่งผอม Anorexia และดนตรีร็อก) ตัว Karl เองนั้นก็เป็นแฟนคลับตัวยังของ Hedi ตัวอย่างชัดเจนที่สุดเกิดขึ้นในปี 2001 เมื่อ Karl ยอมสลัดภาพดีไซเนอร์ตุ๊ต๊ะด้วยการลดนำหนักมากถึง 42 กิโลกรัมในระยะเวลาเพียง 1 ปีเศษ เพื่อจะได้ใส่เสื้อผ้าของ Dior Homme ผลงานการออกแบบของ Hedi Slimane (เขาคุมบังเหียนเสื้อผู้ชาย Dior ปี 2000 – 2007) แถมยังเป็นแขกแถวหน้าเกือบทุกโชว์ของ Dior Homme และที่สำคัญ Hedi ยังเป็นแรงบันดาลใจให้คาร์ลรังสรรค์เสื้อผู้ชายของ CHANEL โดยเปิดตัวอย่างเป็นทางการในฤดูกาล Pre-Fall 2004 กับโชว์ในกรุงโตเกียวหลังแทรกเป็นระยะมาตั้งแต่ปี 2001
Jeremy Scott
หากอิงรายชื่อข่าวลือโดยโยงเรื่องความสนิทสนมเป็นการส่วนตัวกับ Karl Lagerfeld แล้วล่ะก็ เราไม่แปลกใจว่าทำไมจึงมีรายชื่อของนักออกแบบสุดซ่า Jeremy Scott (เจเรมี สก็อตต์) ติดเข้ามาในโผ เพราะหากย้อนกลับไปในปลายยุค ’90s ถึงตอนต้น 2000s เวลานั้นเจเรมี่ที่ถือเป็นนักออกแบบหน้าใหม่ไฟแรง ผู้คนในโลกแฟชั่นต่างจับตา สนิทสนมกับตัวคาร์ลมากๆ สนิทถึงขั้นที่มีภาพของทั้งคู่อยู่ด้วยกันบ่อยครั้งทั้งในงานแฟชั่นโชว์ ที่พักส่วนตัว หรือแม้แต่ที่สตูดิโอออกแบบของ CHANEL
ครั้งหนึ่ง Karl ถึงขั้นให้สัมภาษณ์แก่นิตยสาร Le Monde ในทำนองว่า “หากผมวางมือจาก CHANEL เจเรมีคือคนที่คู่ควรที่สุดที่จะเข้ามารับช่วงต่อ” ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่เขาดำรงตำแหน่งครีเอทีฟไดเรกเตอร์ของ Moschino (ปี 2013 – 2023) เจเรมีมักนำเสนอผลงานที่ล้อเลียนเสียดสีชุดไอคอนิกของ CHANEL ในแบบของ Moschino อยู่เสมอ แต่ในระยะหลังเราได้เห็นชัดว่าผลงานสไตล์ CHANEL ที่เขาสร้างสรรค์นั้นเป็นมากกว่างานล้อเลียน เพราะดูหรูหราจนเกือบจะเทียบชั้นกูตูร์ และที่ยิ่งทำให้ข่าวลือมีมูลขึ้นไปอีกคือเมื่อ W Magazine เปิดเผยบทสนทนาระหว่าง Jeremy และนักข่าวสายแฟชั่น Dana Thomas (ดานา โทมัส) ที่สนิทสนมกัน
DT: เอ่อ…เธอได้งานใหม่แล้วหรอ
JS: ฉันบอกไม่ได้หรอก
DT: แต่ถ้าไปที่ชาเนลเธอต้องให้ข้อมูลกับฉันนะ เพราะฉันเขียนบทความเรื่องของเธอลง Times เมื่อ 25 ปีที่แล้ว (หัวเราะ) … ว่าไง เธอจะไปชาเนลเหรอ? … จะไปชาเนลใช่ไหม?
JS: ฉันต้องไปแล้ว! (พูดตัดบทสนทนา)
Pierpaolo Piccioli
เรากำลังพูดถึงว่าที่หัวเรือของกูตูร์เฮาส์เก่าแก่อายุ 114 ปี ดังนั้นนอกจากเรื่องความสนิทสนมกับ Karl Lagerfeld แล้ว ย่อมต้องมีรายชื่อนักออกแบบที่สร้างสรรค์คอลเล็กชั่นชั้นสูงจนเป็นที่ประจักษ์ ชื่อของ Pierpaolo Piccioli (ปิแอร์เปาโล ปิคชิโอลี) ที่เพิ่งแยกทางกับ Valentino ชนิดที่ทำให้หลายคนใจหายจึงโผล่มาในโผรายชื่อข่าวลืออีกราย โดยความเป็นไปได้อาจน้อยกว่ารายอื่นๆ สักหน่อยตรงที่ เจ้าตัวยังติดสัญญาห้ามทำแบรนด์คู่แข่งเป็นเวลาหนึ่งปี แต่โดยส่วนตัวผมมองว่าไม่ใช่ปัญหาใหญ่สักเท่าไหร่หาก CHANEL อยากได้ตัวเขาจริงๆ
Sarah Burton
ผิดกับกรณีของ Sarah Burton (ซาราห์ เบอร์ตัน) ที่สัญญาการห้ามทำงานแบรนด์คู่แข่งเกือบจะครบ 1 ปี ที่สำคัญไม่มีใครกังขาในฝีมือของเธอ เพราะตลอดระยะเวลา 13 ปี กับหน้าที่ครีเอทีฟไดเรกเตอร์ของ Alexander McQueen ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าผลงานรูปแบบ Semi-Couture ของเธอนั้นมีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็นหัวเรือของแบรนด์โอตกูตูร์ระดับ CHANEL … แต่! ข่าวลือว่าเธออาจจะย้ายไปที่ Givenchy ก็หนาหูเช่นกัน
Marc Jacobs
ทุกคนต่างทราบดีว่า Marc Jacobs (มาร์ก เจคอบส์) นักออกแบบดังวัย 61 ปีที่ผมขอนิยามว่า ‘เก่าแต่เก๋า’ รายนี้หลงใหลโลกโอตกูตูร์ขนาดไหน Marc ผู้ที่เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้ Louis Vuitton ด้วยคอลเล็กชั่นเสื้อสำเร็จรูป (เขาดำรงตำแหน่งครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ของ Vuitton ตั้งแต่ปี 1997 – 2013) เคยให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องความปรารถนาที่อยากจะดำรงตำแหน่งสำคัญที่ CHANEL กับหนังสือพิมพ์ The New York Times ในปี 2005 ว่า “งานที่ CHANEL เป็นอะไรที่โหดสุดในโลก! แต่ก็ถือเป็นการ (ที่ผมจะสามารถทำ) ปฏิวัติครั้งยิ่งใหญ่ (ให้โลกแฟชั่น)”
จริงอยู่ที่ในรายชื่อทั้ง 5 นี้ มาร์กคือคนเดียวที่มีแบรนด์ตัวเองต้องรับผิดชอบ แต่เกือบ 16 ปีที่ Louis Vuitton เขาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเรื่องการแยกสมองเพื่อทำสองแบรนด์นั้นไม่ใช่ปัญหาอะไรที่ต้องกังวล เพราะเราต้องไม่ลืมว่า Karl Lagerfeld ผู้ที่ทำให้ CHANEL กลับมาผงาด และเป็นแบรนด์แฟชั่นเบอร์ต้นของโลกได้ในวันนี้ ก็ต้องแยกร่างเพื่อรับผิดชอบแบรนด์อื่นๆ ด้วยเช่นกัน ขอแค่เข้าใจและเคารพประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของ CHANEL