ไม่ว่าคุณจะชอบของวินเทจหรือไม่ กระแสวินเทจชิ้นปังได้กลับมาเขย่าโลกแฟชั่นอีกครั้ง หากคุณชอบก็ขอให้กระดี๊กระด๊าได้เต็มที่ แต่หากไม่ชอบผมเชื่อว่าเสน่ห์ของมันจะทำให้หลงรักได้ไม่ยาก โดยเฉพาะกับบนหน้าฟีดโซเชียลมีเดียในช่วงเวลานี้ กับเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2024 (Cannes Film Festival) ที่แขกรับเชิญระดับเอลิสต์ต่างสรรหาชุดวินเทจชิ้นปังมาใส่อวดโฉมบนพรมแดงตั้งแต่ ชมพู่-อารยา ที่มาในชุดโอตกูตูร์วินเทจจากปี 1988 ของ Pierre Balmain ตามด้วยโอตกูตูร์ฤดูหนาวปี 2000 ของ Gaultier Paris ไปจนถึง ‘นางพญาแคตวอล์ก’ Naomi Campbell ที่เลือกโอตกูตูร์วินเทจปี 1996 ของ Chanel ที่เธอเคยใส่เป็นแบบขึ้นรันเวย์เมื่อ 28 ปีที่แล้วมาอวดโฉมบนพรมแดงระดับโลก
ชมพู่-อารยา สวมชุดเดรสกำมะหยี่ปักลาย จาก Pierre Balmain Haute Couture 1988
ก่อนอื่นนั้นต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่า ‘วินเทจ’ ที่ผมกำลังกล่าวถึงอยู่นี้ คือชุดหรือไอเทมแฟชั่นที่มีอายุเกิน 2 ทศวรรษขึ้นไปตามที่แวดวงศิลปะได้นิยามไว้ แต่ต้องไม่มีอายุเกิน 100 ปี เพราะถ้าแตะหลักศตวรรษเมื่อไรจะถูกเรียกว่า ‘แอนทีค’ ในขณะเดียวกัน หากเป็นสิ่งของที่อายุไม่เกิน 20 ปี แต่ทำให้ดูเก่าคล้ายกับของวินเทจด้วยวัสดุและเทคนิคพิเศษ เราจะเรียกว่าเป็นสไตล์เรโทร (ย่อจาก Retrospective) เหตุที่ขอหยิบเรื่องของวินเทจมาพูดถึงกันอีกครั้งเพราะครึ่งปีแรกนี้ โลกแฟชั่นได้ตอกย้ำกระแสผ่านหลายงานพรมแดงที่สารพัดวินเทจชิ้นปังวกกลับมาอยู่ในกระแสหลักของโลกแฟชั่นอีกครั้ง และทำให้เกิดไวรัลถูกแชร์ว่อนบนโซเชียลมีเดีย
Naomi Campbell สวมชุดเดรสปักเลื่อม จาก Chanel Haute Couture Fall 1996
แม้แต่เศรษฐีชาวจีนที่ครั้งหนึ่งไม่ได้หลงใหลกับชุดหรือของวินเทจ เพราะมองว่าเป็นการใส่ของเก่า ไม่ก็รู้สึกไม่สบายใจที่ต้องใส่ของต่อจากใครก็ตามที่ตนไม่รู้จัก และการใช้ของต่อจากคนอื่นอาจนำมาซึ่งโชคร้าย ก็ยังเปลี่ยนความคิด จากการรายงานล่าสุดของ Business Insider พวกของวินเทจหรือสินค้าซูเปอร์แบรนด์มือสองคือหนึ่งในเครื่องสะท้อนมุมมองและรสนิยมต่อสินค้าแฟชั่นของเศรษฐีจีนยุคใหม่ โดยเฉพาะกับในกลุ่ม Gen-Z ที่เริ่มมองว่าของวินเทจหรือของมือสองส่วนใหญ่มีเอกลักษณ์และดีไซน์ที่โดดเด่นแตกต่างจากสินค้าในปัจจุบัน (ที่แม้หลายแบรนด์พยายามปัดฝุ่นชิ้นไอคอนิกแต่ก็มีรายละเอียดต่างออกไป) ที่สำคัญทำให้พวกเขาเหล่านั้น ‘ไม่เดินชน’ กับคนที่แห่กันใช้สินค้ารุ่นล่าสุด
ชมพู่-อารยา สวมชุดเดรสด้านหลังตกแต่งตัวอักษร Paris จาก Gaultier Paris Fall 2000
แต่สำหรับผม เสน่ห์ของชุดและไอเทมวินเทจเหล่านี้มีมากกว่าเป็นเพียงการประกาศศักดาว่า “ฉันคือเบอร์ต้นๆ ของโลก!” จึงสามารถใช้คอนเนคชั่นส่วนตัวหรือเครดิตดีจนกูตูร์เฮาส์หลายหลังยอมเปิดคลังสมบัติ แล้วนำผลงานระดับมาสเตอร์พีซมาให้ยืมใส่ไปเฉิดฉายจนกลายเป็นพาดหัวสื่อใหญ่ เพราะเรื่องราวภายใต้ชิ้นงานที่มีอายุเก่าแก่มากกว่าคนหนึ่งเจเนอเรชั่นนั้นน่าสนใจจนทำให้อยากหยิบมาพูดถึง โดยเฉพาะกับหนึ่งในประเด็นซึ่งสอดคล้องกับกระแสหลักชั่วโมงนี้ แนวคิด ‘รักษ์โลก’ ที่ซ่อนอยู่ภายใต้ทัศนคติและค่านิยมการสวมชุด (รวมทั้งข้าวของ) วินเทจของบรรดาคนดัง
Katharine Hamnett เข้าพบอดีตนายกรัฐมนตรี Margaret Thatcher พร้อมสวมเสื้อพิมพ์ลายสโลแกนเพื่อสงสารการประท้วงด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งภายหลังเธอได้รับรางวัลเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (CBE) จากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
“เรื่องที่ทำให้ฉันประทับใจเกี่ยวกับเสื้อผ้าจากช่วงก่อนยุค ’50s คือวัตถุดิบส่วนใหญ่ทำจากฝ้ายปลอดสารพิษเนื่องจากยุคนั้นไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลง” – Katharine Hamnett (แคทเธอรีน แฮมเมตต์) นักออกแบบดังจากเกาะอังกฤษและเป็นหนึ่งในผู้หลงใหลของวินเทจให้สัมภาษณ์กับ ELLE ในปี 2021 “สินค้าแฟชั่นก่อนยุค ’90s (หรือบางแบรนด์อาจยืดมาถึงปลายยุคไนน์ตี้ส์) ส่วนใหญ่มีคุณภาพดีเลิศ! ก่อนที่การผลิตแบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จะเข้ามาแทนที่” เธอเปิดประเด็นน่าสนใจ โดยเฉพาะกับกรณีหลังซึ่งผมเคยสอบถามเหล่าแฟนรุ่นเดอะของบรรดาซูเปอร์แบรนด์ต่างๆ และทั้งหมดยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า “มันคือเรื่องจริง!”
Rita Moreno สวมกระโปรงผ้ากิโมโนที่ซื้อจากฟิลิปินส์ตัวเดียวกับที่ใส่ในปี 1962
ทั้งเรื่องการเลือกใช้วัตถุดิบปลอดสารพิษและ (ในกรณีบางแบรนด์) มีคุณภาพการผลิตที่หลายคนยอมรับว่าดีเลิศกว่าในปัจจุบัน คือประเด็นสำคัญที่ทำให้เห็นว่าคุณค่าของของวินเทจไม่ได้มีแค่เพียงเชิงประวัติศาสตร์ หรือเพื่อสนองภาวะ Nostalgic (ภาวะถวิลหาความสุขที่เคยประสบในอดีต) แต่ยังสอดคล้องกับกระแส ‘รักษ์’ และ ‘รัก’ โลก ซึ่งปัจจุบันคนเจเนอเรชั่น Z และรุ่นต่อๆ ไปยิ่งรู้สึกกังวลกับปัญหาเหล่านี้มากกว่าคนรุ่นก่อนหน้า แถมพวกเขาผู้ขับเคลื่อนโลกต่อจากเรายัง “ว้าว!” กับเหล่าชุดและไอเทมเลอค่าที่ไม่ได้เห็นจนชินตาบนหน้าฟีดที่อัดแน่นด้วยการโปรโมทสินค้าใหม่ทุกวี่วัน
Kim Kardashian สวมชุดกระโปรง Valentino ต่อจาก Kris Jenner
ชุดวินเทจที่เหล่าคนดังต่างให้สุดยอดสไตล์ลิสต์ส่วนตัวควานหามาใส่ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้จึงทำหน้าที่เป็นดังเครื่องมือเชื่อมโยงและเติมเต็มช่องว่างระหว่างวัย ทำให้คนเสพแฟชั่นทั้งรุ่นเก่าและใหม่ได้สัมผัสเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ไปพร้อมกัน ผลงานชิ้นอาร์ไคฟ์เหล่านั้นช่วยสร้างและเปิดบทสนทนาบนหน้าฟีดโซเชียลมีเดีย เชิญชวนให้คนที่โตและทันซึมซับเรื่องราวแฟชั่นในช่วงเวลานั้นๆ หันมาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนทัศนคติในหลากแง่มุม มากกว่าเพียงแค่ชอบหรือไม่ชอบ สวยหรือไม่สวย จึ้งหรือไม่จึ้ง ซึ่งเป็นเรื่องชวนถกแบบผิวเผินที่เกิดขึ้นทุกครั้งหลังจบการนำเสนอผลงานใหม่ๆ
Kendall Jenner สวมชุด Givenchy Haute Couture Fall 1999 โดย Alexander McQueen ร่วมงาน MET Gala 2024
“ฉันอยากจะใส่ชิ้นเลอค่าของ Lee McQueen สักครั้ง”- นางแบบ/เซเลบฯ คนดัง Kendall Jenner (เคนดัลล์ เจนเนอร์) ให้สัมภาษณ์อย่างภาคภูมิใจที่เธอได้ใส่โอตกูตูร์วินเทจจากปี 1999 ของ Givenchy ในยุค Lee Alexander McQueen (อเล็กซานเดอร์ แม็คควีน) ไปเฉิดฉายบนพรมเขียวงาน MET Gala เมื่อต้นเดือนนี้ เธอคือตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่โตไม่ทันซึมซับเรื่องราวเกี่ยวกับชุดที่ว่า (Kendall เพิ่งอายุเพียง 3 ขวบขณะ Givenchy แสดงผลงานที่เธอสวมอยู่) แต่คุณค่าเชิงประวัติศาสตร์ที่ถูกถ่ายทอดและเชิดชูผ่านหน้าสื่อชั้นนำ (อย่าง ELLE และ ELLE MEN ที่นำเสนออย่างต่อเนื่อง) ทำให้เธออยากสัมผัสและดื่มด่ำกับวินเทจชิ้นดังอยู่เสมอ จนกลายเป็นเจ้าแม่ของวินเทจไปอีกราย
Zendaya สวมชุดหุ่นยนต์ จาก Thierry Mugler Haute Couture Fall 1995 ร่วมงานเปิดตัวรอบปฐมฤกษ์ Dune: Part 2
“ของวินเทจคือตัวแทนทางประวัติศาสตร์ และน่าชื่นชมที่คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าของเรื่องราวในอดีต อย่างกรณีดราม่าของ Kendall ที่เธอให้สัมภาษณ์ว่าคือมนุษย์คนแรกที่ใส่ชุดนี้ จนมีการถกและนำหลักฐานเชิงประจักษ์มาแลกเปลี่ยนข้อมูลทำให้คอลเล็กชั่นของ Lee McQueen ที่เรียกได้ว่าเกือบจะถูกลืมกลับมามีตัวตนอีกครั้ง แต่หากตัดเรื่องดราม่าออกไป เราเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่า Kendall คือตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่สดุดีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง ดูได้จากข้าวของที่เลือกใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะกระเป๋าคาดเอว Chanel หรือเสื้อยืด Gaultier” – Pop Wattakul นักเขียนแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ร่วมแสดงความคิดเห็น “อีกอย่างมันดูน่าเศร้าไปหน่อย หากชุดที่ทีมช่างตั้งใจรังสรรค์เป็นเดือนๆ ถูกแสดงแบบไปแค่ครั้งเดียวแล้วเก็บเข้าคลังไว้เฉยๆ”
Cate Blanchett สวมเดรส จาก Maison Margiela
“ฉันเชื่อว่าทุกคนควรจะได้รับโอกาสที่ 2 … พวกเสื้อผ้าแฟชั่นก็เช่นกัน” – Leyla Ertur (เลย์ล่า เออร์ตูร์) หัวหน้าฝ่ายความยั่งยืนของแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นที่หันมาเอาจริงเรื่องรักษ์โลกอย่าง H&M กล่าวสอดคล้องกับประเด็นนี้ “ฉันมักเอาของวินเทจมาใส่คู่ของใหม่ๆ อย่างสวมรองเท้าวินเทจที่ซื้อจากร้านริมถนนในเซี่ยงไฮ้ คู่กับกระโปรงดีไซน์คลาสสิกจาก COS” การใส่ของวินเทจที่บางคนอาจเคยเปรียบเป็นเรื่อง ‘เอาท์’ หรือเชยอยู่นอกกระแส ไม่ก็ตกซีซั่นได้กลายเป็นเรื่องในอดีต เพราะสำหรับพ.ศ.นี้ วิธีการมิ๊กซ์และแมทช์แบบที่เธอทำอยู่ถือว่า ‘อิน’ และดูมีภูมิเมื่อสอดคล้องกับแนวคิด ซื้อให้น้อย (ลง) แต่ใช้ให้คุ้มค่า โดยใส่ให้บ่อยและนานขึ้น เมเจอร์เทรนด์ของโลกในยุคปัจจุบันที่คนทุกรุ่นตระหนักและพากันขับเคลื่อนโลกด้วยความห่วงใย
Dame Helen Mirren สวมชุด Dolce&Gabbana ร่วมงานสำคัญมากถึง 7 ครั้ง (ตามลำดับ)
นอกจากพวกขุมทรัพย์จากอดีตเหล่านี้ทำให้ผู้สวมใส่ดูแตกต่างทั้งเรื่องรสนิยมและทัศนคติ แถมยังโดดเด่นเกินใครด้วยเสื้อผ้าแบบไม่ซ้ำใครบนอินสตาแกรม การใส่ชุดเดิมหรือร่วมสนับสนุนของวินเทจยังทำให้คุณมีส่วนร่วมในการป้องกันการฝังกลบเสื้อผ้าใช้แล้วมากถึงราวๆ 336,000 ตันต่อปี! … ใช่ครับ เป็นตัวเลขที่ดูแล้วน่าตกใจทีเดียว นั่นจึงทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นขึ้นชื่อในเรื่องการทำร้ายโลก อีกทั้งยังเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองก็เพียงแค่อุตสาหกรรมทางการเกษตร และเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างขยะให้หลายสิบล้านตันต่อปีจนมีประโยคที่คนใช้ล้อและเสียดสีกัน “แฟชั่นยิ่งล้ำขยะก็จะยิ่งล้นโลก”
Joaquin Phoenix สวมแจ็กแกตสั่งตัดพิเศษ จาก Stella McCartney แบรนด์วีแกนที่มีจุดยืนด้านรักษ์โลก
Joaquin Phoenix (วาคีน ฟีนิกซ์) และ Cate Blanchett (เคต บลันเชตต์) คืออีกตัวอย่างของนักแสดงมากความสามารถที่ตั้งใจใส่ชุดวินเทจ-ชุดซ้ำๆ ให้เห็น ไปร่วมงานสำคัญระดับโลกเพื่อสะท้อนแนวคิด “ถ้าชุดยังสภาพดีและเหมาะสมกับงานที่ไป แล้วทำไมต้องเปลี่ยนใหม่? เราควรใช้ให้คุ้ม” นักแสดงชายรายแรกนั้นใส่ทักซิโดตัวเดิมของ Stella McCartney ไปร่วมงานใหญ่ไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง ส่วนนักแสดงหญิงรายหลังใส่ชุดซ้ำแบบนับครั้งไม่ถ้วน เพราะหลายชุดของเธอยังดูดี รับกับรูปร่าง (ที่ผมต้องขอชื่นชมวินัยในการดูแลตัวเอง) และคู่ควรกับงานที่ไป … เพราะเธอนิยมเลือกใช้ผลงานคุณภาพเป็นเลิศของแบรนด์โปรดที่ไว้ใจ
Cate Blanchett ปรากฏโฉมบนพรมแดงด้วยการใสชุดซ้ำ เพื่อแสดงจุดยืนด้านสิ่งแวดล้อม
‘คุณภาพ’ จึงกลายเป็นปัจจัยแรกของเทรนด์การใช้ของวินเทจ เพราะอย่างไรเราก็ต้องวกกลับมาที่เรื่องนี้ หากสินค้าไม่มีคุณภาพที่ดีมากพอ อายุการใช้งานของมันก็คงไม่อยู่ถึงวัยที่เรียกว่า “วินเทจ” ดีไม่ดีอาจอยู่ได้แค่เพียงข้ามปีหรือไม่เกิน 5 ปี ดังนั้นนิยามของของวินเทจสำหรับผมจึงเป็น ‘เก่า … แต่เก๋า’ สามารถยืนหยัดผ่านกาลเวลาข้ามยุคข้ามสมัยมาให้คนอีกรุ่นได้ชื่นชมความงดงามที่คนรุ่นก่อนๆหน้าตั้งใจรังสรรค์ขึ้น สำหรับผมภาพของเหล่าคนดังระดับ A+ ที่เห็นบนพรมแดงงานสำคัญในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 ซึ่งดูเหมือนไม่มีอะไรมากไปกว่าการได้สวมชุดวินเทจสุดปัง จึงน่าสนใจด้วยการสื่อสารผ่านมุมมองและแนวคิดร่วมสมัย
จากครั้งหนึ่งที่เหล่าคนดังมักหลีกเลี่ยงการสวมชุดซ้ำกัน (แม้จะเป็นต่างงานก็ตาม) ไม่ก็ต้องเป็นผลงานจากคอลเล็กชั่นล่าสุด เพราะรู้สึกเขินที่จะต้องใส่ ‘ชุดเก่า’ วันนี้แนวคิดเหล่านั้นได้กลายเป็นเรื่อง ‘เอาท์’ ในยุคที่ของเก่ากลับมา ‘อิน’ ไม่แพ้ของใหม่ ใครจะไปรู้ ดีไม่ดีภาพคนดังสวมชุดวินเทจบนพรมแดงที่พาดอยู่บนหน้าข่าวแฟชั่นและบันเทิงซึ่งดูเหมือนไม่ได้สำคัญอะไร อาจจะไปกระทุ้งความคิด และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ที่กำลังเสพสื่อจนลุกมาทำตาม เพราะอิทธิพลของคนดังและโลกแฟชั่นนั้นทรงพลัง และทุกครั้งที่สองสิ่งนี้จับมือร่วมกันก็มักผลักดันให้เกิดสิ่งใหม่ๆได้เสมอ