เทคโนโลยี AR จะพาเราไปได้ไกลแค่ไหนในโลกแฟชั่น?

WORDS: TMRTOOLATE

กระจกวิเศษบอกข้าเถิด ใครงามเลิศในปฐพี

ใครจะไปเชื่อละครับว่าฉากในภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง สโนว์ไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด เมื่อ 86 ปีก่อนที่กระจกโต้ตอบกับแม่มดได้นั้น …จะกลายเป็นเรื่องจริงเอาในวันนี้ ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา อีคอมเมิร์ซและการช้อปปิ้งออนไลน์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับการค้าปลีกเครื่องแต่งกายออนไลน์ที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วทั่วโลกเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การช้อปปิ้งออนไลน์ยังไม่สามารถทดแทนการช้อปปิ้งในร้านค้าได้อย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะสินค้าประเภทเสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องประดับ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวผู้ซื้อในร้านมักมีการ ‘หยิบจับและลองสวม’ เพื่อค้นหาเนื้อสัมผัสลักษณะ หรือความพอดีของผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่สนุกและให้ความรู้สึกที่ดีก่อนการตัดสินใจซื้อ แต่น่าเสียดายที่ประสบการณ์ดังกล่าวกลับเป็นไปไม่ได้สำหรับโลกออนไลน์ ด้วยเหตุนี้ผู้ซื้อออนไลน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ซื้อผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าและรองเท้า จึงมักไม่พึงพอใจกับผลิตภัณฑ์ที่ได้รับ เนื่องจากขาดปฏิสัมพันธ์ในแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นกับการเลือกซื้อสินค้าในร้านนั่นเอง

VTO & VFR to Solve Major Consumer Pain Point

เมื่อผู้บริโภคไม่สามารถลองเครื่องแต่งกายที่แสดงบนเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นได้ ดังนั้นความสำเร็จของแบรนด์แฟชั่นผ่านช่องทางออนไลน์จึงขึ้นอยู่กับการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถ ‘เห็นภาพของสินค้า’ ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งหากคุณเคยใช้ฟิลเตอร์เทคโนโลยีเสมือนจริง (Augmented Reality: AR) บนอินสตาแกรม ตั้งแต่ฟิลเตอร์หน้าร้องไห้ไปจนถึงฟิลเตอร์การ์ตูน นั่นแหละคือรูปแบบเดียวกับการพัฒนาเครื่องมือที่เรียกว่า ‘การลองชุดแบบเสมือนจริง’ (Virtual Try-On: VTO) หรือ ‘ห้องลองเสื้อเสมือนจริง’ (Virtual Fitting Rooms: VFR) ที่ผสมผสานโลกเสมือน (Virtual World) กับโลกจริง (Physical World) ด้วยการซ้อนทับวัตถุเสมือน ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า แว่นตา เครื่องประดับ หรือแม้แต่เครื่องสำอาง เข้ากับสภาพแวดล้อมในชีวิตจริงของผู้ใช้งานแบบเรียลไทม์ ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคสามารถ ‘ลองเสื้อผ้าออนไลน์ได้เสมือนการลองเสื้อผ้าในร้าน’ ผ่านสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือแม้แต่แล็ปท็อป ที่นับว่ามีผลอย่างมากต่อการทำให้ผู้บริโภคเห็นภาพของผลิตภัณฑ์ได้ดียิ่งขึ้น

Why AR is Boosting?

ตามรายงานในปี 2017 นักช้อปออนไลน์ ‘ส่งคืนเสื้อผ้า’ สูงถึง 43% ซึ่งมากกว่าสินค้าในหมวดหมู่อื่น ๆ โดย 70% ของเสื้อผ้าที่ถูกส่งคืนมักมีขนาดหรือสีที่ไม่ถูกต้อง ทำให้การนำเทคโนโลยี AR มาใช้กับการช้อปปิ้งออนไลน์ที่ผู้บริโภคสามารถ ‘ทดลองใส่’ เสื้อผ้าก่อนตัดสินใจซื้อได้ จึงสามารถช่วยลดการคืนสินค้าได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นการสร้างประสบการณ์การจับจ่ายสินค้าแฟชั่นแบบอินเตอร์แอกทีฟให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นอีกด้วย

แบรนด์แฟชั่นจึงจำเป็นต้องเข้าใจในศักยภาพของเทคโนโลยีนี้และทำงานร่วมกับนักพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงประสบการณ์ของผู้บริโภค โดยเทคโนโลยี AR กำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีเฉพาะ (Niche) ไปสู่โอกาสที่มีศักยภาพมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์ โดยแบรนด์เครื่องแต่งกายที่มุ่งเน้นนวัตกรรมกำลังค้นหาวิธีใช้งาน AR ที่สร้างสรรค์ เพื่อแสดงศักยภาพใหม่ให้กับเทคโนโลยีนี้ ตั้งแต่ด้านการตลาด การสร้างประสบการณ์ห้องลองเสื้อเสมือนจริง ไปจนถึงความยั่งยืนของอุตสาหกรรมแฟชั่น

A Difference Between Virtual Try-on and Physical Try-on

ทีนี้การลองเสื้อผ้าจริงในร้านค้ากับการลองแบบเสมือนจริงด้วย AR นั้น แตกต่างกันเกือบทั้งหมด ยกเว้นแค่ ‘เรื่องสี’ โดยคุณลักษณะต่าง ๆ (Attributes) ทั้งสไตล์ เนื้อผ้า การมิกซ์แอนด์แมตช์กับเครื่องแต่งกายชิ้นอื่น การสัมผัสและความรู้สึก น้ำหนัก ความพอดี รวมถึงความสะดวกสบาย ‘การลองจริงในร้านค้ายังคงได้รับคะแนนมากกว่าการลองแบบ AR’ ขณะที่คะแนนเฉลี่ยสำหรับคุณลักษณะที่สัมผัสได้ (Tactile Attributes) AR ก็ยังคงทำได้ไม่ดีนัก เนื่องจากผู้ใช้ไม่สามารถอธิบายคุณลักษณะที่สัมผัสได้ เช่น การสัมผัสและความรู้สึก ความสบาย หรือน้ำหนัก อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องกับรูปลักษณ์ (Visual Characteristics) เช่น รูปแบบ รายละเอียด และการมิกซ์แอนด์แมตช์กับเครื่องแต่งกายอื่นเมื่อใช้ AR นั้นสูงกว่าค่ากลาง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ‘การลองด้วย AR อยู่ในระดับที่น่าพอใจ’ และช่วยให้ผู้ใช้เข้าใจถึงคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ได้ดียิ่งขึ้นเมื่อเลือกซื้อผ่านช่องทางออนไลน์

งานวิจัยอีกชิ้นยังพบว่า การลองสวมจริงส่งผลให้ผู้บริโภคมีทัศนคติและความตั้งใจซื้อสูงกว่าเมื่อเทียบกับการลองด้วย AR ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า ผู้บริโภคยังคงชอบและตัดสินใจซื้อโดยอิงจากประสบการณ์ที่ได้รับจากการลองสัมผัสจริง อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า AR จะไร้ประโยชน์สำหรับผู้บริโภค เพราะจากผลวิจัยระบุว่า ‘AR ให้ข้อมูลภาพที่ดี’ (Good Visual Information) ซึ่งสามารถเพิ่มทัศนคติที่ดีและความตั้งใจซื้อให้กับผู้บริโภคได้ 

ด้านงานวิจัยชื่อ Evaluating Garments in Augmented Reality When Shopping Online ระบุว่า ขนาดและสีของเสื้อผ้าที่ลองผ่าน AR ให้ผลลัพธ์ที่ ‘แม่นยำ’ เมื่อเทียบกับการลองสวมจริง ขณะที่รูปลักษณ์ เช่น สไตล์ รายละเอียดของเสื้อผ้า และการลองสวมร่วมกับเครื่องแต่งกายอื่นก็แสดงผลได้อย่าง ‘น่าพอใจ’ ทำให้โดยรวมแล้ว ผู้ที่ลองสวมเสื้อผ้าด้วย AR มีทัศนคติและความตั้งใจซื้ออยู่ในเกณฑ์ดี นอกจากนี้ AR ยังดูเหมือนจะ ‘สร้างประสบการณ์ที่ดี’ ให้กับนักช้อปอีกด้วย 

แม้การลองสวมจริงจะมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจซื้อเครื่องแต่งกาย แต่ตัวกระตุ้น AR สามารถให้ข้อมูลที่ช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับ ‘ขนาด สี และสไตล์’ ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่า AR จะเข้ามา ‘ช่วยเสริมประสบการณ์’ มากกว่าที่จะเข้ามาแทนที่การลองสวมจริง

Gucci: Attracting More Followers to Gucci Gang 

ด้วยการใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แอป AR จึงได้รับการยอมรับจากผู้ค้าปลีกมากขึ้นเช่นกันในฐานะเครื่องมือที่ช่วยสร้างประสบการณ์อันสมจริงให้กับลูกค้า โดย Gucci ถือเป็นอีกหนึ่งในผู้นำแบรนด์ลักชัวรี่แฟชั่น และเมื่อพูดถึงการดึงดูดกลุ่มคนมิลเลนเนียล Gucci มียอดขายเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าในปี 2018 และผู้บริโภคที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี มีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของยอดขายดังกล่าว โดยผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ Alessandro Michele เรียกฐานแฟนคลับรุ่นมิลเลนเนียลกลุ่มนี้ว่า “Gucci Gang” ซึ่งทางแบรนด์ได้ปรับกลยุทธ์เพื่อดึงดูดผู้ติดตามให้เข้าร่วมแก๊งนี้มากขึ้น โดยหลัก ๆ แล้วคือ การใช้เทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมใหม่ อย่างแอป AR บน iOS ที่ให้ลูกค้าสามารถลองคอลเล็กชั่นรองเท้าผ้าใบ Ace แบบเสมือนจริงจากที่ใดก็ได้บนโลก โดยแบรนด์สัญชาติอิตาลีเปิดตัวโซลูชั่นดังกล่าวเมื่อปี 2019 ก่อนที่จะมีการล็อกดาวน์ทั่วโลก ซึ่งในช่วงเวลาของการที่ต้องปิดหน้าร้านเป็นเวลานานก็เป็นการพิสูจน์แล้วว่า การใช้เทคโนโลยี AR เป็นอีกหนึ่งวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการกระตุ้นยอดขายและทำให้ลูกค้าเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ได้มากขึ้น อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกด้วย

Lacoste: Creating 3D Experience

Lacoste แบรนด์แฟชั่นกีฬาจากฝรั่งเศส นับเป็นแบรนด์แรก ๆ ของโลกที่ใช้เทคโนโลยี AR ในการโปรโมตสินค้า เมื่อทางแบรนด์เปิดตัวไลน์เสื้อผ้าสตรีตแนวใหม่ LCST พร้อมกับแอปชื่อเดียวกันเมื่อปี 2018 โดยแอปตัวนี้ช่วยให้ลูกค้าในร้านค้าจริงสามารถ ‘ลอง’ ผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ทั้งหมดจากคอลเล็กชั่น LCST แบบดิจิทัลได้แบบเรียลไทม์ โดยเมื่อนักช้อปเข้ามาในร้าน เพียงใช้แอปสแกนภาพทริกเกอร์บนพื้นและเลือกช่วงสีและสไตล์ที่แตกต่างกันของรองเท้ารุ่นที่ชอบ จากนั้นก็จะสามารถลองสวมได้แบบไม่จำกัดจำนวนคู่โดยไม่จำเป็นต้องถอดรองเท้า โดยแคมเปญของ LCST ได้รับคำชื่นชมอย่างมากในฐานะการโปรโมตร้านค้าปลีกที่โดดเด่นและล้ำสมัย มีผู้ดาวน์โหลดแอปและโต้ตอบกับผลิตภัณฑ์สามมิติความละเอียดสูงของ Lacoste กว่า 30,000 ราย และมียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 34.5%

Burberry: AR Inspired by Art

Burberry สำนักนวัตกรรมแฟชั่นแห่งสหราชอาณาจักร เลือกใช้เทคโนโลยี AR โดยไม่ได้มุ่งหวังที่ยอดขายเพียงอย่างเดียว เห็นได้ชัดจากแคมเปญที่ร่วมกับศิลปิน Danny Sangra สร้างภาพวาด Burberry-inspired สำหรับใช้เป็นฟีเจอร์ AR ที่ผู้ใช้สามารถตกแต่งสิ่งรอบตัวด้วยรูปภาพของศิลปินสุดติสต์ชาวเมืองผู้ดี ซึ่งช่วยให้แบรนด์เข้าถึงกลุ่มลูกค้าหน้าใหม่ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ Burberry ยังใช้ AR นำเสนอประสบการณ์สุดเจ๋งในย่าน Ely’s Yard แหล่งช้อปปิ้งยอดนิยมใน East London โดยติดตั้งกวางลายครามขนาดใหญ่ 3 ตัวในกล่องกระจก ซึ่งเมื่อผู้คนที่เดินผ่านไปมาสแกนประติมากรรมดังกล่าวด้วยแอป Google Lens ก็จะเห็นตัวเองและสัตว์ต่าง ๆ ปรากฏบนสมาร์ทโฟน ซึ่งในทั้งสองกรณี ผู้ใช้ต่างแชร์ภาพบนโซเชียลมีเดียกันอย่างแพร่หลาย

การนำ AR มาใช้กับกิจกรรมทางการตลาด ทำให้ Burberry ได้เปรียบทางการแข่งขัน จากในอดีตที่แบรนด์หรูไม่เห็นว่า ช่องทางออนไลน์เหมาะกับการขายสินค้าไฮเอนด์ โดยเชื่อว่า ลูกค้าจะได้รับประสบการณ์ส่วนตัวในร้านค้าที่มีหน้าร้านจริงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ความเชื่อดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่เรื่องจริง เมื่อ Burberry เชิญชวนลูกค้าเข้าสู่โลกดิจิทัลและทำให้ลูกค้ามีความสุข ซึ่งทุกวันนี้นักช้อปดื่มด่ำกับสินค้าไฮเอนด์แฟชั่นทางออนไลน์มากขึ้นเรื่อย ๆ โดย Burburry มีฐานลูกค้าที่มั่นคงในจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเกือบ 80% ของการซื้อเป็นการสั่งซื้อจากอุปกรณ์พกพา ดังนั้นแบรนด์หรูจึงไม่ควรประเมินพลังของช่องทางออนไลน์และ AR ในการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า รวมถึงการกระตุ้นยอดขายที่ต่ำจนเกินไป

Changqing Street: 5G AR Mirrors in the Silk City

ต้นปี 2019 China Mobile Zhejiang และ Hangzhou Changqing Street Office ได้ลงนามในสัญญาการค้า 5G ฉบับแรกในจีน โดยตกลงที่จะใช้เทคโนโลยี 5G เพื่อมอบประสบการณ์การช้อปปิ้งที่ดีขึ้นสำหรับนักช้อปในเมืองหางโจว โดยการเปลี่ยนหางโจวให้เป็นเมืองแห่ง 5G และอีคอมเมิร์ซ จะช่วยให้การนำโมเดลธุรกิจ O2O (Online to Offline) มาใช้ในอุตสาหกรรมค้าปลีกท้องถิ่นได้ง่ายยิ่งขึ้น

ที่ร้านค้าแห่งหนึ่งที่ติดตั้งกระจก AR พนักงานเชิญลูกค้าให้มาสัมผัสเทคโนโลยีใหม่นี้ โดยลูกค้ารายหนึ่งสามารถ ‘ลองชุด 5 ชุดภายในเวลาไม่ถึงนาที’ โดยกล่าวว่า “ด้วยกระจก AR นี้ นอกจากการลองชุดใหม่แล้ว ยังสามารถเปลี่ยนสีของชุดและเพิ่มเครื่องประดับ เช่น ผ้าพันคอหรือกระเป๋าที่เข้ากับชุดได้ด้วย ซึ่งมันจะยอดเยี่ยมมาก หากสามารถควบคุมการทำงานทั้งหมดนี้ได้ด้วยท่าทางหรือเสียง เสื้อผ้าเสมือนจริงสามารถติดตามคุณขณะเดินไปมา มันสะดวกมาก เพราะทำให้ฉันสามารถหาเสื้อผ้าที่ถูกใจได้อย่างรวดเร็ว” 

ขณะที่ในประเทศไทยเองก็เคยมีการให้บริการกระจก AR ด้วยเช่นกัน โดยย้อนกลับไปเมื่อปี 2020 เมื่อสองแบรนด์ยักษ์ใหญ่ด้านการค้าปลีกและด้านดิจิทัล อย่างเซ็นทรัลและเอไอเอสได้จับมือกันเปิดตัว AIS 5G Smart Mirror ภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ในรูปแบบ Pop-up ซึ่งเปิดโอกาสให้เหล่าแฟชั่นนิสต้าได้ครีเอต Look of the Day ของตัวเองผ่านแบรนด์แฟชั่นชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็น Polo Ralph Lauren, Superdry, Topman, Uniqlo, Zara ฯลฯ เพื่อแชร์กับเพื่อนในโซเชียลมีเดีย หรือหยิบ Add to Cart เพื่อรับสินค้าจากร้านค้าได้ในทันที

DODDZ: The Dematerialisation of Fashion

DODDZ นักออกแบบและผู้สร้าง AR เปิดตัวคอลเล็กชั่น Defy บนแฟชั่นโชว์ดิจิทัลในรูปแบบ All-AR Runway ครั้งแรกของโลก ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เมื่อปลายปี 2022 ซึ่งนับเป็นการสร้าง ‘จุดตัดและเส้นทางใหม่’ ของอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและเทคโนโลยี โดยแฟชั่นโชว์เริ่มต้นจากการให้ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเทียบเท่ากับทวีปยุโรปทั้งทวีป และการที่ ‘เสื้อผ้าดิจิทัล’ สามารถเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนในอนาคตสำหรับลูกค้าที่รักษ์โลกและสิ่งแวดล้อม

รันเวย์ของ DODDZ ใช้เทคโนโลยี AR เพื่อแสดงให้ผู้ชมเห็นเสื้อผ้าเสมือนจริงบนเรือนร่างของนายแบบและนางแบบ “เพียงผู้ชมยกโทรศัพท์ขึ้นแล้วติดตามไปตามร่างกายของคนบนรันเวย์ เสื้อผ้า AR จะถูกนำไปใช้กับนางแบบและนายแบบขณะที่พวกเขาเดินไปรอบ ๆ

“โลกแฟชั่นทุกวันนี้ ผู้คนสนใจแต่หน้าตาของตัวเองบนโซเชียลมีเดีย คนกำลังซื้อเสื้อผ้า ใส่ครั้งเดียว ถ่ายรูป โพสต์ แล้วเก็บไว้ในตู้เสื้อผ้าหรือไม่ก็ส่งคืนสินค้า ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องที่ดีสำหรับโลกของเรา ในเมื่อลูกค้าสามารถเลือกซื้อเสื้อผ้าดิจิทัลที่ถูกสร้างขึ้นด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สามมิติแทนผ้าและสิ่งทอ ไม่ต้องผ่านกระบวนการขนส่ง อีกทั้งยังมีองค์ประกอบด้านความยั่งยืน เพราะเห็นได้ชัดว่า เสื้อผ้าดิจิทัลเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า แถมยังมีรูปภาพที่ยอดเยี่ยมให้โพสต์บนโซเชียลมีเดียอีกด้วย”

DODDZ เสริมถึงอนาคตของเสื้อผ้าดิจิทัลว่า “เราต้องการแสดงให้โลกเห็นว่า อนาคตของแฟชั่นสามารถมีความยั่งยืนเป็นแกนหลักได้ และช่วยให้เสื้อผ้าดิจิทัลกลายเป็นกระแสหลักมากขึ้นผ่านเทคโนโลยี AR ซึ่งในอนาคตเทคโนโลยีจะพัฒนาขึ้นอีก ความเร็วในการประมวลผลก็จะดีขึ้น ความเร็วอินเทอร์เน็ตจะเร็วขึ้น ทำให้คุณสามารถมีเสื้อผ้าดิจิทัลได้มากขึ้น มีขนาดไฟล์ที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งหมายความว่า คุณกับเครื่องแต่งกายดิจิทัลของคุณจะดูสมจริงมากยิ่งขึ้นในเร็ววันนี้”

ในปัจจุบัน แฟชั่นดิจิทัลแพร่หลายมากที่สุดใน ‘การเล่นเกม’ โดยเกมเมอร์จ่ายเงินหลายพันล้านดอลลาร์ต่อปีเพื่อแต่งตัว Avatar ของตัวเอง อย่างล่าสุด Epic Games บริษัทที่อยู่เบื้องหลังเกม Fortnite ขายสกินที่เป็นชุดของผู้เล่นอเมริกันฟุตบอล NFL ได้มากถึง 3.3 ล้านชุด ทำเงินได้ 50 ล้านดอลลาร์ภายในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์

The Potential of AR Technologies

แม้การนำ AR มาใช้ทางการตลาดหรือให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสินค้าแฟชั่นในโลกออนไลน์จะต้องใช้เงินลงทุนสูง ทำให้มีแบรนด์เครื่องแต่งกายเพียงไม่กี่รายที่ทดลองใช้ AR ในร้านค้าออนไลน์ของตนเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หลาย ๆ แบรนด์ไม่ควรมองข้ามเทคโนโลยี AR ซึ่งจะมีความแม่นยำมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจาก AR มีประโยชน์ที่หลากหลาย ทั้งให้ความช่วยเหลือทางดิจิทัลแก่ลูกค้า เพิ่มโอกาสในการเลือกซื้อเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายที่มากขึ้น ช่วยแนะนำเสื้อผ้าตามความชอบของผู้ซื้อหรือตามเทรนด์แฟชั่น ช่วยสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดและส่งเสริมให้คนรู้จักแบรนด์มากขึ้น ช่วยลดจำนวนสินค้าที่ส่งคืน รวมถึงช่วยให้วงการแฟชั่นมีความยั่งยืนได้มากขึ้นอีกด้วย 

นอกจากนี้ การรวมโซเชียลมีเดีย เช่น ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม หรือเฟซบุ๊กไว้กับการลองเสื้อ AR หรือห้องลอง AR ยังช่วยให้ผู้ซื้อได้รับคำแนะนำหรือคำติชมอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสบการณ์การช้อปปิ้งที่สนุกสนาน น่าพึงพอใจ และโต้ตอบกันได้มากขึ้น มากไปกว่านั้น แอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนยังสามารถแจ้งเตือนร้านค้าใกล้เคียงถึงรายการที่ผู้ซื้ออยากได้ ซึ่งจะช่วยให้รวมการช้อปปิ้งในร้านค้าและการค้นหาดีลออนไลน์เข้าไว้ด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ

เคยคิดถึงอะไรที่ไม่น่าจะเป็นไปได้กันมั้ยครับ? จากรถที่ต้องเติมน้ำมันมาเป็นชาร์จไฟฟ้าในรั้วบ้าน จากโทรศัพท์ที่โทรเข้า-ออกได้อย่างเดียวมาทำได้เกือบทุกอย่างในชีวิตประจำวัน อนาคตของ AR ก็น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะใครจะไปคิดว่า Smart Devices หรือแม้กระทั่งกระจก! มันจะโต้ตอบกับเราได้แบบเรียลไทม์เหมือนในหนังการ์ตูนเมื่อเกือบ 90 ปีก่อน การใช้เทคโนโลยี AR จึงถือเป็นความก้าวหน้าอย่างแท้จริงในอุตสาหกรรมแฟชั่น เป็นวิธีใหม่ในการสร้างการรับรู้ เพิ่มยอดขาย สร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ และผลักดันการเติบโตที่ยั่งยืนยิ่งขึ้นในอนาคต

AR Fast Facts 

  • 250 ล้านคน คือจำนวนผู้มีส่วนร่วมกับ AR ในทุกวัน 
  • 6,500 ล้านครั้ง คือจำนวนการเล่น AR เฉลี่ยต่อวัน 
  • 80,000 ล้านดอลลาร์ คือประมาณการมูลค่าตลาด VR และ AR ภายในปี 2025
  • 75% ของประชากรโลกและผู้ใช้สมาร์ทโฟนเกือบทั้งหมดจะเป็นผู้ใช้ AR เป็นประจำภายในปี 2025
  • 80% ของการขายสินค้าลักชัวรี่ในปัจจุบันได้รับอิทธิพลจากช่องทางดิจิทัล
  • 1/5 ของการซื้อสินค้าลักชัวรี่จะเกิดขึ้นทางออนไลน์ภายในปี 2025 
  • 15-50% คืออัตราการคืนสินค้าจากการสั่งซื้อเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายออนไลน์ 
  • 60% ของการส่งคืนเหล่านี้ อ้างว่า “ใส่ไม่พอดี” 
  • 28% คือตัวเลขที่ช่วยลดการส่งคืนจากการลองใส่ AR จึงทำให้ AR Fashion ได้ชื่อว่ามีส่วนในการช่วยลดคาร์บอนฟรุตปรินต์ (Carbon Footprint)
  • 100 ล้านคน คือจำนวนคนอเมริกันที่ใช้เทคโนโลยี AR เพื่อลองเสื้อผ้าก่อนตัดสินใจซื้อในปี 2019
  • 55% ของผู้บริโภคเห็นว่า AR ทำให้การช้อปปิ้งเป็นเรื่องสนุก
  • 66% ของผู้บริโภคสนใจที่จะใช้ AR ลองเสื้อผ้าเพื่อช่วยในการตัดสินใจซื้อ
  • 86% ของแบรนด์ในสหรัฐฯ ที่ใช้ AR กล่าวว่า สามารถช่วยกระตุ้นยอดขายและหาลูกค้าใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
  • 10-15% ของตู้เสื้อผ้าของเราจะประกอบด้วยเครื่องแต่งกายดิจิทัลในอนาคตอันใกล้
  • 50,000 ล้านดอลลาร์ คือคาดการณ์มูลค่าตลาดแฟชั่นดิจิทัลภายในปี 2030

Similar Articles

More