ทิศทางใหม่ของ McQueen แบรนด์แฟชั่นสายดรามาติกที่คนทั่วโลกหลงรัก

ไม่ใช่ข่าวใหญ่ แต่เป็นข่าวเซอร์ไพรส์ จากห้องเสื้อที่ผมเชื่อว่าคอแฟชั่นทั่วโลกต่างก็หลงรัก Alexander McQueen … ข่าวที่ว่าคือการที่ทางแบรนด์ปล่อยภาพและคลิปเรียกน้ำย่อยผลงานแรกภายใต้วิสัยทัศน์ของผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์คนใหม่ Seán Mcgirr (ฌอน แมคเกอร์) ที่จะเผยโฉมเดบิวต์คอลเล็กชั่นในฤดูกาล Fall/Winter 2024 วันที่ 2 มีนาคมนี้ โดยไฮไลต์ที่มาเซอร์ไพรส์ในภาพแคมเปญคือการดึงเอาโลโก้เก่าที่แฟนคลับคุ้นตากลับมา เป็นโลโก้ตัวอักษรแบบเชอริฟ มีเอกลักษณ์ให้จดจำคือสัญลักษณ์ตัว c อยู่ในห่วงตัว Q โดยการกลับมาคราวนี้ทาง Kering บริษัทเจ้าของห้องเสื้ออันเป็นมรดกตกทอดของ Lee Alexander McQueen (ลี อเล็กซานเดอร์ แม็คควีน) ได้ตัดชื่อต้นออก เหลือไว้เพียงชื่อท้าย McQueen ซึ่งผมคิดว่าเพื่อให้จดจำง่าย สั้นกระชับ และร่วมสมัย

โลโก้อันโดดเด่นที่ Lee Alexander McQueen ร่วมกันคิดกับผองเพื่อน (ทั้งสไตล์ลิสต์คู่บุญและช่างผม) ซึ่งใช้มาตั้งแต่ก่อตั้งแบรนด์นั้น ถูกเปลี่ยนเป็นโลโก้แบบใหม่ในช่วงปลายปี 2018 และนำมาใช้อย่างเป็นทางการครั้งแรกในคอลเล็กชั่น Pre-Fall 2019 โดยผมเองก็ไม่แน่ใจถึงสาเหตุที่ทาง Kering ตัดสินใจเปลี่ยนในครั้งนั้น แต่ที่แน่ๆ หากดูจากการคอมเมนต์ตอนที่ประกาศเปลี่ยนโลโก้แล้วละก็ ถือว่าเสียงส่วนใหญ่ไปในทิศทางที่ค่อนข้างลบ

โลโก้บน – 1992-2018 และ โลโก้ล่าง 2018-2023

“ตอนเปลี่ยนเป็นโลโก้แบบใหม่ทางแบรนด์ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดอะไรมากไปกว่าต้องการให้ดูร่วมสมัย แต่ถ้าเอาตามรสนิยมส่วนตัวมองว่าโลโก้แบบเก่านั้นร่วมสมัย ดูมีพลัง มีเอกลักษณ์และจดจำได้ง่ายกว่ามาก” – Wattakul N. นักเขียนแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ร่วมแสดงความเห็น “แต่อาจเป็นไปได้ว่าตอนนั้น Kering คงอยากจะลบภาพจำซ้ำซ้อนกันระหว่างโลโก้ของ Alexander McQueen และไลน์วัยรุ่น McQ เพราะทั้งคู่ใช้วิธีการเดียวกันคือจับตัวอักษรไปอยู่ในตัว Q ที่ดูคล้ายกับไข่ เพราะตัว Lee McQueen ชอบสัตว์ปีกมาก โดยของ McQ นั้นมีตัว Mc อยู่ในห่วงตัว Q แล้วเวลาคนจะนำโลโก้ของ Alexander McQueen ไปกล่าวถึง ก็มักจะนำโลโก้ของ McQ ไปใช้ ซึ่งเป็นโลโก้ของไลน์รอง ไม่ใช่ไลน์หลัก เพราะเกิดจากความสับสน”

แต่เมื่อตอนนี้ทาง Kering ตัดสินใจยุติไลน์วัยรุ่นที่ชื่อ McQ (แม็กคิว) ไว้ชั่วคราวตั้งแต่ปี 2022 จึงน่าจะเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้มีการนำโลโก้เก่ากลับมาใช้อีกครั้ง หลังจากที่ทำให้แฟนคลับอยู่ในภาวะงงงวยอยู่ 5 ปีกับความสงสัยที่ว่า “ของเดิมดีอยู่แล้ว จะเปลี่ยนทำไม?” และ “ทำไมไม่เปลี่ยนให้ดูดีหรือมีเอกลักษณ์เป็นที่จดจำไม่แพ้โลโก้ต้นฉบับ?”

แต่สาเหตุหลักคงเป็นอย่างที่ผมกล่าวไว้ตอนแรกว่า การเปลี่ยนกลับมาใช้โลโก้เดิมครั้งนี้ไม่ได้กลับมาทั้งหมด แต่ตัดเหลือเพียงแค่ชื่อ ‘McQueen’ ซึ่งตัว Lee McQueen เองก็เคยใช้โลโก้แค่นามสกุลนี้ในช่วงปลายยุค ’90s ถึงช่วงต้น 2000s การทำให้สั้นกระชับและร่วมสมัยไม่เพียงสอดคล้องกับแนวทางถนัดในการสร้างสรรค์ผลงานของ Sean McGirr แต่ยังเป็นไปในทิศทางเดียวกับเมเจอร์เทรนด์อย่าง ‘มินิมัล’ ที่ทาง Kering พยายามผลักดันผ่านแบรนด์แฟชั่นรายใหญ่ที่ถืออยู่ในมือ

จากภาพและคลิปเรียกน้ำย่อยผลงานเดบิวต์ที่ปล่อยออกมา เราจึงได้เห็นการลดทอนรายละเอียดและปรับโครงสร้างแฟชั่นดรามาติกจากชุดไอคอนิกในฤดูกาลอันโด่งดังต่างๆให้ดูใส่ง่ายขึ้น เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือชุดเดรสลาตารางที่ได้แรงบันดาลใจมาจากผลงานจากคอลเล็กชั่นฤดูหนาวปี 2006 และชุดที่นักแสดง Sarah Jessica Parker (ซาราห์ เจสสิกา พาร์กเกอร์) ใส่คู่กับ Lee McQueen ไปร่วมงาน Met Gala ในปีเดียวกัน ภาพแคมเปญเรียกน้ำย่อยชุดนี้จึงถือเป็นการส่งสัญญาณว่า McQueen ได้เดินมาบนทิศทางของแฟชั่นสไตล์มินิมัลเป็นที่เรียบร้อย … ส่วนผลงานทั้งหมดในเดบิวต์คอลเล็กชั่นที่จะเกิดขึ้นในอีก 2 สัปดาห์จะถูกใจแฟนๆ และคอแฟชั่นหรือไม่นั้น มาร่วมลุ้นไปกับเราทุกแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของ ELLE Men Thailand

Sarah Jessica Parker และ Lee McQueen ร่วมงาน Met Gala 2006 และผลงานล่าสุดโดย Sean McGirr

Similar Articles

More