ศิลปะเอไอคือศิลปะหรือไม่? การหาคำตอบให้กับเรื่องนี้คงเป็นเรื่องยากกว่าที่คิดไว้

WORDS: Poom Petsophonsakul 
PHOTO: Midjourney

ปี 2022 ที่ผ่านมาเป็นปีแห่งศิลปะเอไอที่กำลังเป็นที่นิยมทั่วโลก โดยเฉพาะหลังจากการมาของ Midjourney และ DALL-E ระบบอัลกอริทึมพัฒนาโดย OpenAi ที่สามารถดึงภาพจากอินเทอร์เน็ตมาสร้างเป็นภาพตามคำสั่งพรอมต์ (prompt) ได้ตามใจผู้ใช้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงนี้กำลังเป็นช่วงขาขึ้นของระบบปัญญาประดิษฐ์ เพราะหลังจาก ChatGPT-3 ขึ้นมาฮิตไม่ทันไร OpenAi ก็พัฒนาตัว GPT-4 ออกมาให้ใช้กันแล้ว ดูเหมือนว่าในอนาคตอันใกล้นี้เราอาจได้เห็นระบบที่ไปได้ไกลกว่า Midjourney และ DALL-E อย่างแน่นอน

ศิลปะเอไอมีทั้งคนชมและคนไม่พอใจ

ในขณะหลายคนกำลังชื่มชมความสวยงามที่ศิลปินเอไอมอบให้กับผู้ใช้ กลุ่มคนที่ไม่พอใจคือบรรดาศิลปิน ซึ่งพวกเขามองเห็นว่าระบบเอไอเหล่านี้เป็นเหมือนมิจฉาชีพขโมยงานศิลปะของมนุษย์ไปดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาต แถมบางคนยังใช้งานศิลปะเอไอไปใส่รวมเป็นผลงานบนเว็บไซต์งานศิลปะอย่าง ArtStation โดยศิลปินหลายคนเริ่มออกมาประท้วงด้วยการใส่ภาพเขียนว่า “No AI Art” หากพิมพ์ลงบนช่องค้นหาของเว็บไซต์ในตอนนี้ จะพบผลการค้นหาทั้งหมด 2,801 ผลลัพธ์ นั่นหมายความว่ามีศิลปินกว่า 2,000 คน บนเว็บไซต์ไม่เห็นด้วยกับงานศิลปะเอไอ

Midjourney เป็นระบบที่มีผู้ใช้ชอบมากที่สุด

หากพูดถึงความนิยมคงต้องบอกว่า Midjourney เป็นระบบที่มีผู้ใช้ชอบมากที่สุด ถึงขั้นตั้งกลุ่มบนเฟซบุ๊กเพื่อแชร์ภาพที่สร้างด้วย Midjourney แต่ถึงกระนั้นภาพที่เอไอสร้างส่วนใหญ่มีความบิดเบี้ยวหงิกงอไม่สมจริงและจำแนกได้ง่ายว่าไม่ใช่ฝีมือมนุษย์ ซึ่งการทำงานของ Midjourney จะเป็นการหยิบยืมภาพวาดที่มีอยู่บนอินเทอร์เน็ตผ่านระบบ ML (Machine Learning) เพื่อสร้างเป็นภาพที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว 

ศิลปินส่วนใหญ่ไม่โอเคที่เอไอขโมยภาพมาใช้

สิ่งที่ศิลปินส่วนใหญ่ตระหนักคือการที่เอไอขโมยภาพมาใช้โดยทางอ้อม ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องผิดจริยธรรมสำหรับพวกเขา บางคนไม่ได้ให้ค่ากับงานศิลปะเอไอ เพราะมองว่าเป็นงานลอกเลียนแบบ ไม่มีความดั้งเดิม และไร้ซึ่งความสร้างสรรค์ แต่ถ้าเราจะมองงานศิลปะเอไอบนข้อโต้เถียงนี้ เราอาจพูดได้เช่นกันว่าศิลปินมนุษย์ก็ล้วนเป็นนักลอกเลียนแบบ

การลอกเลียนแบบงานศิลปะไม่ใช่เรื่องใหม่

ศิลปินรุ่นใหญ่แห่งเรเนอซองส์อย่างมีเกลันเจโล (Michelangelo) พยายามลอกเลียนแบบงานปั้นของปราซิเตเลส (Praxiteles) ช่างปั้นยุคทองกรีกโบราณ, จิตรกรตอนเหนือยุโรปพยายามเดินตามรอย ยัน ฟัน ไอก์ (Jan van Eyck) ผู้บุกเบิกการวาดภาพแนวเหมือนจริง รวมถึงจิตรกรบางคนยังอาศัยการจัดองค์ประกอบภาพเดียวกับผลงานของจิตรกรรุ่นก่อน แม้แต่กรีกโบราณที่หลายคนคิดว่าเป็นผู้บุกเบิกงานศิลปะที่มีสัดส่วนสวยงามก็ยังต่อยอดผลงานตัวเองจากรูปปั้นอียิปต์โบราณ เพราะฉะนั้น เราจะเห็นพัฒนาการของศิลปะตลอดเวลาตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงยุคปัจจุบัน ศิลปะมันคือว่าด้วยการต่อยอด

กลับมาที่ศิลปะเอไอที่ถ้าว่ากันตามเทคนิคแล้ว

ไม่ต่างอะไรจากศิลปินที่พยายามต่อยอดผลงานของศิลปินยุคก่อนหน้า แต่ทำไมคนทุกวันนี้ถึงรู้สึกไม่พอใจมากกว่า บางทีอาจเป็นเพราะความง่ายและรวดเร็วของมัน? หรือบางทีอาจเป็นความอคติที่เรามีแต่เอไอที่ฮิตเกินหน้าเกินตาไป? ถ้าในเชิงเทคนิคมันแทบไม่ต่างกัน เราอาจต้องมองดูที่กระบวนการ หรือ ‘ความพยายาม’ ที่เอไอเหมือนจะไม่มีสิ่งนี้อยู่ ตามกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์นั้นการวาดภาพไม่ใช่เรื่องงาน มันคือการฝึกฝนที่ต้องใช้เวลานานหลายปี อีกทั้งมนุษย์ยังต้องอาศัยความเข้าใจในการดัดแปลงไอเดียจากผลงานอื่นให้เป็นงานที่มีลายเซ็นของตัวเอง มันคือน้ำพักน้ำแรง คุณค่าที่ก่อตัวขึ้นจากกาลเวลาที่สูญเสียไป ลองนึกว่าวันหนึ่งจู่ๆ มีเอไอที่ไหนไม่รู้สามารถสร้างผลงานได้ภายในพริบตาเดียว มันคงเป็นเรื่องที่ชวนหัวเสียไม่น้อย

การหาทางออกให้กับเรื่องนี้คงยากกว่าที่คิดไว้

ผู้เชี่ยวชาญศิลปะบนกระทู้ Quora ให้ความเห็นว่า สุดท้ายคุณค่าของงานศิลปะขึ้นอยู่กับปัจเจกไม่ว่าผลงานนั้นๆ จะเป็นฝีมือมนุษย์หรือเอไอก็ตาม ส่วนประเด็นเรื่องการคัดลอกผลงานทุกคนน่าจะรู้ดีว่าการทำงานของเอไอเป็นอย่างไร มันคือความรู้สึกเดียวกับการที่เรารู้ว่าศิลปินคนนี้ลอกผลงานใครมา เหมือนที่เรารู้สึกเฉยๆ กับภาพวาดเลียนแบบ ‘โมนาลิซ่า’ ในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ เพราะรู้แก่ใจว่ามันไม่ใช่ของจริง หัวใจหลักที่แท้จริงของศิลปะคือการสื่อสารกับผู้ชม ถ้าภาพโมนาลิซ่าถูกวาดขึ้นใหม่ด้วยการเติมเขาสัตว์เข้าไป มันอาจมีคุณค่าต่างจากเดิม และอาจสื่อสารกับคนยุคนี้ได้ดีกว่าคนในยุคเรเนอซองส์

กล่าวโดยสรุปแล้ว เราอาจพูดได้ว่าในแง่ของกระบวนการ ศิลปะเอไอเป็นความไม่ยุติธรรม ส่วนในแง่ของความเป็นศิลปะ ขึ้นอยู่กับมนุษย์อย่างเราๆ ว่าจะมอบคุณค่าแก่มันมากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับ ‘สาร’ ของภาพที่สื่อออกไป ซึ่งอาจมีคุณค่าสำหรับใครบางคน หรือไม่มีคุณค่าเลยก็ได้ แล้วคุณล่ะคิดว่างานศิลปะเอไอเป็น ‘ศิลปะ’ หรือไม่

Similar Articles

More