เดินทางเข้าสู่เมษายน เดือนแห่งเทศกาลหยุดยาวที่เราได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวมากที่สุด ซึ่งเป็นจังหวะอันดีที่ทาง GDH ค่ายหนังคุณภาพจัดเสิร์ฟหนังเรื่องใหม่ อย่าง หลานม่า (2024) ให้คอหนังได้รับชมกัน การันตีความดีงามด้วยรายได้ทะลุ 100 ล้านบาทหลังจากเข้าฉายเพียง 4 วัน ทำให้นักแสดงนำอย่าง บิวกิ้น-พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล และ ยายแต๋ว-อุษา เสมคำ ได้รับฉายา ‘นักแสดง 100 ล้าน‘ เป็นที่เรียบร้อย
แอลเมนเลยจึงขอมาสรุปประเด็น 5 ข้อที่อาจทำให้คุณ น้ำตาไหลตาบวมหลังดูจบ (เหมือนนักเขียน)
‘มรดก’ จุดเริ่มต้นและตัวเชื่อมความสัมพันธ์ อาม่า – เอ็ม
การเข้ามาดูแลอาม่า (รับบทโดย ยายเแต๋ว-อุษา) ของเอ็ม (รับบทโดย บิวกิ้น-พุฒิพงศ์) เพื่อหวังมรดก แต่กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสองเจเนอเรชั่นอย่างลึกซึ้งที่ตีค่าได้มากกว่าเงินทอง นั่นคือมิตรภาพดีๆ ในการใช้ชีวิตร่วมกัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผู้ชมหลายคนอาจเกิดโมเมนต์ Memory Recall ถึงเรื่องราวที่เกิดกับคนสนิทในครอบครัวที่ความคาดหวังอาจต่างกันในตอนแรก แต่สุดท้ายเกิดเป็นการเรียนรู้ ความเข้าใจที่มาแปลงความคาดหวังเป็นความรักอันบริสุทธิ์
การกดทับเพศหญิงใน ‘ครอบครัวเชื้อสายจีน’
การกดทับทางเพศในบรรดาลูกสาวของครอบครัวเชื้อสายจีนยังคงเกิดขึ้นอยู่ สะท้อนผ่านตัวละครอย่าง อาเจีย (รับบทโดย เจีย-สฤญรัตน์) ที่หลายฉาก ‘ผู้หญิง’ เป็นตัวละครที่แทบไม่มีตัวตนในครอบครัวเชื้อสายจีน ซึ่ง หลานม่า สามารถสะท้อนออกมาได้เป็นอย่างดีคล้ายเทียบเคียงกับชีวิตจริงของใครหลายๆ โดยเฉพาะคนที่เกิดมาในครอบครัวเชื้อสายจีน อาจอินเกิน แนะนำควรพกกระดาษทิชชู่ไปเลยหนึ่งแพ็กใหญ่ๆ
‘สิ่งของ’ ช่วยเล่าเรื่องให้ประทับใจ
นอกจาก ‘บทละครและนักแสดง’ อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ทางผู้กำกับและทีมผู้จัดอย่าง เก้ง-จิระ, วัน-วรรณฤดี และ พัฒน์-บุญนิธิพัฒน์ คือ ‘สิ่งของ’ ที่เข้ามาเล่าเรื่องเพิ่มความเข้มข้นได้เพิ่มปริมาณน้ำตา ในหลายๆ โมเมนต์ อาทิซีน ‘ก๋วยเตี๋ยวเนื้อ’ ที่ปรากฏในตัวอย่างหนังที่สามารถตีความจากความละเลยของเอ็มไม่ได้ใส่ใจในตัวของอาม่า รวมถึงซีนอื่นๆ ที่มีการสร้างฉากสมจริงทั้งสถานที่ องค์ประกอบศิลป์ที่ช่วยสร้างมู้ดให้ผู้ชมเข้าถึงได้อย่างไม่ต้องพยายาม
‘สถาบันครอบครัว’ หัวใจหลักของ ‘หลานม่า‘
‘หลานม่า’ เป็นภาพยนตร์ตีแผ่เรื่องราวความสัมพันธ์ภายในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนที่มีประชากรคนไทยเชื้อสายจีนประมาณ 8 ล้านคน ซึ่งปักหลักเป็นครอบครัวขยายสักส่วนใหญ่ การเล่าเรื่องของ ‘หลานม่า’ จึงเข้มข้นผ่านช่องว่างของความสัมพันธ์ของคนสองเจเนอเรชั่นอย่าง อาม่า และ เอ็ม รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องอย่าง กู๋เคี้ยง อาเจีย กู้โส่ย และครอบครัวของกู้เคี้ยง ที่หากคุณได้ชมคุณจะรู้จักเทียบเคียงกับตัวละครที่มากกว่าหนึ่งแน่นอน
เคมีระหว่าง บิวกิ้น และ ยายเแต๋ว
ข้อสุดท้ายที่ทำให้คนดูนั้นอินกับภาพยนตร์เรื่องนี้แบบขั้นสุดก็คงต้องยกเครดิตให้ บิวกิ้น และ ยายแต๋ว เลยเพราะทั้งสองสามารถถ่ายทอดตัวละครออกมาได้สมจริงมากๆ ราวกับว่าเป็นยาย-หลานกันจริงๆ ซึ่งทางผู้กำกับอย่างคุณพัฒน์ ได้ออกมาเผยทางอินสตาแกรมว่าทั้งยายแต๋วและบิวกิ้นนั้นได้ลองออกไปใช้ชีวิตราวกับยายกับหลานจริงๆ โดยให้บิวกิ้นพายายแต๋วไปหาหมอที่โรงพยาบาล เพื่อสร้างความเข้าใจในตัวละครเพื่อให้แสดงออกผ่านจอได้อย่างสมจริง
Notes: ทางผู้เขียนได้เข้าไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้และยังมีโอกาสได้เข้าไปร่วมงานแถลงข่าวก็ขอคอนเฟิร์ม เพราะมีบางทีที่ผู้เขียนก็แอบคิดว่าทั้งสองคนนี้เป็นยายกับหลานกันจริงๆ นอกจากนั้นด้าน ตู-ต้นตะวัน ก็ได้บอกผ่านคลิปวิดีโอสัมภาษณ์ว่าเคมีของทั้งสองนั้นเข้าขากันจริงๆ สำหรับใครที่กำลังลังเลอยู่ผู้เขียนอยากจะบอกว่าทุกคนไปดูเถอะเรียกว่าเป็นอีกหนึ่งภาพยนตร์ไทยที่จะพาเราไปดื่มด่ำกับความสัมพันธ์ในครอบครัวนี้ และอาจจะยิ้มหรือเสียน้ำตาหนักมากแบบผู้เขียนก็ได้